- 13 ธ.ค. 2564
เปิดสภาพภายใน รถไฟญี่ปุ่นมือ2 KIHA 183 จำนวน 17 คันล่าสุดถึงไทยเเล้ว ด้าน รฟท.โพสต์คลิปพร้อมข้อความ ขนมาทำไมรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น?
มาเเล้ว17คันรถไฟบริจาคญี่ปุ่น 40ยังเเจ๋ว รถไฟญี่ปุ่นมือ2 ส่งต่อให้ไทยใช้ฟรีๆจากบริษัทJR HOKKAIDO โดยเมื่อ13ธ.ค.64 นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุง รถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นตัวแทนของนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เข้าร่วมรับขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น
ล่าสุดได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ณ ศูนย์ขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี โดยมีผู้บริหารการรถไฟฯ และคณะสื่อมวลชนร่วมเป็นสักขีพยาน และเข้าร่วมสังเกตการณ์ตรวจขบวนรถโดยสารทั้ง 17 คันอย่างใกล้ชิดก่อนนำมาปรับปรุงเปิดให้บริการ
นายศิริพงศ์ พฤทธิพันธุ์ รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการซ่อมบำรุงรถจักรและล้อเลื่อน การรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตามที่การรถไฟฯ ได้มีความร่วมมือกับบริษัท JR Hokkaido ประเทศญี่ปุ่น ในการส่งมอบขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 (คีฮา 183) จำนวน 17 คัน มาให้กับประเทศไทยฟรีๆไม่ต้องเสียเงิน
(โพสต์ PRรฟท. ขนมาทำไมรถไฟมือ2จากญี่ปุ่น? งดดราม่า รถไฟบริจาค 40ยังเเจ๋ว )
ขณะนี้ขบวนรถไฟดังกล่าวได้ขนย้ายจากประเทศญี่ปุ่นมาถึงประเทศไทยเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ประกอบด้วย รถมีห้องขับสูง (High Cab) จำนวน 8 คัน รถมีห้องขับต่ำ (Low Cab) จำนวน 1 คัน และรถไม่มีห้องขับ จำนวน 8 คัน
ทั้งนี้ ขบวนรถที่การรถไฟฯ รับมอบในครั้งนี้ เป็นรถดีเซลราง (DMU) รุ่น Kiha 183 ของ JR Hokkaido ที่เคยเปิดให้บริการทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจากการตรวจสภาพเบื้องต้นพบว่าขบวนรถมีตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และตู้โดยสารอยู่ในสภาพดี สามารถนำมาใช้งานได้ เนื่องจากทาง JR Hokkaido มีการดูแลบำรุงรักษามาโดยตลอด และเพิ่งมีการตรวจสภาพครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ จึงคาดว่ายังมีอายุการใช้งานต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟฯ จะขนย้ายรถดีเซลราง Kiha 183 ทั้ง 17 คัน ไปที่โรงงานมักกะสัน โดยให้ฝ่ายการช่างกล ดำเนินการทดสอบสมรรถนะตัวรถ และตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และนำมาประกอบเข้ากับแคร่ที่มีการดัดแปลงให้เท่ากับความกว้างของรางในประเทศไทยขนาด 1 เมตร
(อ่านข่าวเกี่ยวข้อง: ยลโฉมรถไฟญี่ปุ่นมือ2 ส่งต่อให้ไทยใช้ฟรีๆ "รฟท."ออกค่าขนส่งเอง42ล้าน )
โดยใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นจะมีการปรับปรุงรถ โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลักทุกส่วน เช่น Main Engine, Transmission, Donkey Engine, เครื่องปรับอากาศ ที่นั่ง ภายในและภายนอกตู้โดยสาร ฯลฯ
โดยจะเข้าปรับปรุงทีละชุดจนครบ 4 ชุด ใช้เวลาดำเนินงานประมาณ 2 ปี โดยมีรูปแบบการปรับปรุงคล้ายคลึงกับรถโดยสารทั่วไป และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับการท่องเที่ยว เช่น เคาน์เตอร์บาร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างการจัดจ้างเพื่อปรับปรุงรถ การรถไฟฯจะนำรถโดยสาร Kiha 183 ทั้ง 17 คัน มาทดลองเปิดให้บริการ เช่น ขบวนรถในเส้นทางระยะสั้น ขบวนรถพิเศษพินิจงาน ขบวนพิเศษสำหรับการท่องเที่ยวในเส้นทางต่างๆ เพื่อทดสอบสมรรถนะตัวรถ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ขบวนรถไฟท่องเที่ยว และเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะนำรถดีเซลราง Kiha 183 ทั้งหมดมาเปิดให้บริการเดินรถใน 4 เส้นทาง
พร้อมกับเปิดให้ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้สนใจเช่าเหมาขบวนในรูปแบบ Charter Train โดยมี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่
1. อุดรธานี - หนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว - จีน และประชาชนที่เดินทางระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว
2. นครราชสีมา - ขอนแก่น เพื่อรองรับการบริการในช่วงทางคู่สายขอนแก่นให้มีศักยภาพด้านการเดินทางระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นขนส่งต่อเนื่อง (Feeder) ของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ - นครราชสีมา
3. กรุงเทพ – หัวหิน - สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อทดแทนขบวนรถไฟนำเที่ยวชายทะเลสวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวประจำที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูง โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเดินทาง การท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำ
4. ขบวนรถท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา ลพบุรี สระบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปากช่อง นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามฤดูกาล เทศกาล หรืออีเวนต์พิเศษต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว
นายศิริพงศ์ กล่าวเพิ่มว่า ขบวนรถดีเซลราง KIHA 183 เป็นรถชุดที่ 2 ที่การรถไฟฯ ได้รับมอบจาก JR Hokkaido จากก่อนหน้านี้ที่เคยได้รับชุดรถนั่ง (รถชุดฮามานะสึ: Hamanasu) จำนวน 10 คัน ซึ่งอยู่ระหว่างขั้นตอนการปรับปรุง เพื่อนำมาจัดขบวนรถเป็น 2 ชุด ชุดละ 5 คัน ให้บริการใน 2 เส้นทางท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ ได้แก่ เส้นทางนครลำปาง – เชียงใหม่ และเส้นทางกรุงเทพ - น้ำตกไทรโยคน้อย โดยคาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการปรับปรุง 2 ปี และสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2566
“การรถไฟฯ มีความเชื่อมั่นว่าการรับมอบขบวนรถดีเซลจาก JR Hokkaido จะมีความคุ้มค่า สามารถนำรถทั้งหมดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งในการอำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน การส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวภายในประเทศ การกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และเสริมศักยภาพการขนส่งทางราง ตลอดจนช่วยเพิ่มรายได้แก่การรถไฟฯ อีกทางหนึ่งด้วย”
เห็นได้จากก่อนหน้านี้ การรถไฟฯ เคยได้รับมอบตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่น มาปรับปรุงและใช้ในกิจการรถไฟมาแล้ว เช่น การรับมอบตู้โดยสารจากบริษัท JR-West นำมาให้บริการเป็นขบวนตู้นอนปรับอากาศ ได้นำพ่วงกับขบวนรถด่วนที่ 51 เส้นทาง กรุงเทพ – เชียงใหม่ – กรุงเทพ และนำมาพ่วงกับขบวนรถเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ให้กับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาล
รวมถึงบางส่วนหนึ่งนำมาดัดแปลงให้เป็นตู้พิเศษ เช่น รถ SRT Prestige รถประชุมปรับอากาศ ฯลฯ เป็นรถเช่าเหมาคัน ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟฯ และส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศได้เป็นอย่างดี และอนาคตการรถไฟฯ ยังมีแผนจัดตั้งสำนักงานธุรกิจพิเศษและการท่องเที่ยว เพื่อดำเนินธุรกิจรถไฟท่องเที่ยว การเช่าเหมาขบวนรถและตู้รถไฟ รวมถึงทำการตลาดเพื่อหารายได้ และทำธุรกิจพิเศษนอกเหนือจากการโดยสารเพิ่มเติม
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพการดูแลความปลอดภัยในการให้บริการขนส่งทางราง การรถไฟฯ ยังได้จัดซื้อรถโบกี้ปั้นจั่นกลจำนวน 3 คัน ขนาดยกได้ไม่ต่ำกว่า 80 ตัน ซึ่งล่าสุดได้ขนส่งมาถึงประเทศไทย ที่ท่าเรือแหลมฉบัง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยจะนำมาทดแทนรถโบกี้ปั้นจั่นกลรุ่นเก่า ที่ใช้เครื่องต้นกำลังเป็นไอน้ำจำนวน 3 คัน ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 57 ปี และมีความสามารถในการยกเพียง 35 ตัน ซึ่งไม่เพียงพอรองรับรถจักรและรถพ่วงรุ่นใหม่ที่มีน้ำหนักมากได้ จึงจำเป็นต้องใช้รถปั้นจั่นกลที่มีความสามารถในการยกสูงขึ้น และพ่วงในขบวนรถที่ใช้ความเร็วได้มากกว่าเดิม
สำหรับสมรรถนะ รถโบกี้ปั้นจั่นกลทั้ง 3 คัน เป็นรุ่น KIROW Multitasker Railway Crane Type KRC 1210 N ซึงเป็นรถโบกี้คุณภาพสูง ผลิตด้วยเทคโนโลยีทันสมัยจากประเทศเยอรมนี มีขนาดกำลังยกไม่ต่ำกว่า 80 ตัน มีคันปั้นจั่นที่ยาว ทำให้ยกรถตกรางในพื้นที่กว้างโดยไม่จำเป็นต้องเคลื่อนรถหลายครั้งได้ อีกทั้งสามารถใช้งานบน Electrified Track และในพื้นที่แคบ เช่น อุโมงค์ บนสะพาน ทางคู่ รวมถึงบนพื้นที่ลาดเอียง และยกรถตกรางในอุโมงค์ได้ โดยมีความเร็วเคลื่อนที่ด้วยตัวเองไม่กว่า 20 กม./ชม. และถูกรางจูงไม่น้อยกว่า 90 กม./ชม.
“ด้วยคุณภาพของโบกี้ปั้นจั่นรุ่นใหม่ จะเข้ามาช่วยเพิ่มศักยภาพการกู้ภัยเหตุอันตรายแก่การรถไฟฯ ได้เป็นอย่างดี เพราะเป็นรถที่มีความคล่องตัว รวดเร็ว สามารถเข้าช่วยกู้ภัยในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่รถปั้นจั่นล้อยางของเอกชนเข้าไม่ถึง อาทิ ทางรถไฟยกระดับ หรือ จุดกลางป่า หุบเหวไม่มีถนนเข้าถึงได้ และที่สำคัญยังรองรับเชื้อเพลิงไบโอดีเซลได้ถึง บี20 ทำให้ประหยัดพลังงานและยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
ขอบคุณ
ธีรพงค์ นิลประดับ
ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย