- 16 ธ.ค. 2564
การรถไฟฯเเจงละเอียดเป็นข้อๆ ขนมาทำไมรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น สยบดราม่ารถไฟบริจาค หลังโดนโลกโซเชี่ยลด้อยค่าหนัก เอารถไฟเก่าญี่ปุ่นมาใช้งานในไทย
กรณีดราม่ารถไฟมือสองญี่ปุ่น บริจาคให้ประเทศไทยใช้เเบบฟรีๆ โดยเมื่อวันที่ 13ธ.ค.64 การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้รับมอบขบวนรถไฟดีเซลราง KIHA 183 จำนวน 17 คัน ที่ได้รับมอบจากบริษัท Hokkaido Railway Company (JR HOKKAIDO) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเดินทางมาถึงประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว โดยเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่งเเละนำเข้ารวมทั้งสิ้น 42ล้านบาท
ขบวนรถที่รฟท.รับมอบในครั้งนี้ เป็นรถดีเซลราง (DMU) รุ่น Kiha 183 ของ JR Hokkaido ที่เคยเปิดให้บริการทางตอนเหนือของประเทศญี่ปุ่น ซึ่งจากการตรวจสภาพเบื้องต้นพบว่าขบวนรถมีตัวถัง เครื่องยนต์ ระบบขับเคลื่อน และตู้โดยสารอยู่ในสภาพดี สามารถนำมาใช้งานได้ เนื่องจากทาง JR Hokkaido มีการดูแลบำรุงรักษามาโดยตลอด และเพิ่งมีการตรวจสภาพครั้งใหญ่เมื่อไม่นานมานี้ จึงคาดว่ายังมีอายุการใช้งานต่อไปได้อีกไม่ต่ำกว่า 50 ปี ซึ่งมีความคุ้มค่าเป็นอย่างมาก
สำหรับขั้นตอนต่อจากนี้ การรถไฟฯ จะขนย้ายรถดีเซลราง Kiha 183 ทั้ง 17 คัน ไปที่โรงงานมักกะสัน โดยให้ฝ่ายการช่างกล ดำเนินการทดสอบสมรรถนะตัวรถ และตรวจสอบอุปกรณ์ทุกชิ้นส่วนอย่างละเอียดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย และนำมาประกอบเข้ากับแคร่ที่มีการดัดแปลงให้เท่ากับความกว้างของรางในประเทศไทยขนาด 1 เมตร
โดยใช้เวลาประมาณ 4 เดือน จากนั้นจะมีการปรับปรุงรถ โดยปรับเปลี่ยนอุปกรณ์หลักทุกส่วน เช่น Main Engine, Transmission, Donkey Engine, เครื่องปรับอากาศ ที่นั่ง ภายในและภายนอกตู้โดยสาร ฯลฯ โดยจะเข้าปรับปรุงทีละชุดจนครบ 4 ชุด ใช้เวลาดำเนินงานประมาณ 2 ปี โดยมีรูปแบบการปรับปรุงคล้ายคลึงกับรถโดยสารทั่วไป และมีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับรองรับการท่องเที่ยว เช่น เคาน์เตอร์บาร์ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ช่วงระหว่างการจัดจ้างเพื่อปรับปรุงรถ การรถไฟฯจะนำรถโดยสาร Kiha 183 ทั้ง 17 คัน มาทดลองเปิดให้บริการ เช่น ขบวนรถในเส้นทางระยะสั้น ขบวนรถพิเศษพินิจงาน ขบวนพิเศษสำหรับการท่องเที่ยวในเส้นทางต่างๆ เพื่อทดสอบสมรรถนะตัวรถ ควบคู่กับการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ขบวนรถไฟท่องเที่ยว
และเมื่อปรับปรุงแล้วเสร็จ การรถไฟฯ จะนำรถดีเซลราง Kiha 183 ทั้งหมดมาเปิดให้บริการเดินรถใน 4 เส้นทาง พร้อมกับเปิดให้ประชาชน หน่วยงาน หรือผู้สนใจเช่าเหมาขบวนในรูปแบบ Charter Train
โดยมี 4 เส้นทางหลัก ได้แก่
1. อุดรธานี - หนองคาย – เวียงจันทน์ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจากการเปิดให้บริการรถไฟสายลาว - จีน และประชาชนที่เดินทางระหว่างประเทศไทย และ สปป.ลาว
2. นครราชสีมา - ขอนแก่น เพื่อรองรับการบริการในช่วงทางคู่สายขอนแก่นให้มีศักยภาพด้านการเดินทางระหว่างจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดขอนแก่นที่เป็นเมืองขนาดใหญ่ รวมถึงเป็นขนส่งต่อเนื่อง (Feeder) ของรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพ - นครราชสีมา
3. กรุงเทพ – หัวหิน - สวนสนประดิพัทธ์ เพื่อทดแทนขบวนรถไฟนำเที่ยวชายทะเลสวนสนประดิพัทธ์ ซึ่งเป็นขบวนรถไฟนำเที่ยวประจำที่มีปริมาณผู้ใช้งานสูง โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของการเดินทาง การท่องเที่ยว และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับกลุ่มลูกค้าใหม่และลูกค้าประจำ
4. ขบวนรถท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางและจังหวัดใกล้เคียง เช่น อยุธยา ลพบุรี สระบุรี เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปากช่อง นครปฐม ฉะเชิงเทรา สุพรรณบุรี เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคกลางที่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ ตามฤดูกาล เทศกาล หรืออีเวนต์พิเศษต่างๆ ด้านการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย ได้ออกมาโต้ดราม่าโซเชี่ยล เกี่ยวกับรถไฟมือ2ญี่ปุ่น โดยเพจทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย ได้เผยคลิปอธิบายเหตุผลต่างๆให้ประชาชนเข้าใจ ขนมาทำไมรถไฟมือสองจากญี่ปุ่น? เเจงละเอียดเป็นข้อๆดังนี้
ถาม : ทำไมขนรถไฟมือสองอายุ 40 ปีมา
ตอบ : เพราะรถไฟที่ได้รับมาเป็นรถไฟ 40 ยังแจ๋ว ปลดระวางไปเมื่อปี 2559 แต่ยังได้รับการบำรุงรักษาด้วยมาตรฐานที่ดีของญี่ปุ่น สามารถนำมาปรับปรุงเพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ถาม : ให้ฟรีทำไมมีค่าใช้จ่าย
ตอบ : ค่าใช้จ่าย 42.5 ล้านบาท เป็นค่าขนย้าย รวมภาษีนำเข้า และภาษีมูลค่าเพิ่ม การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ประกาศผลการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งเลือกบริษัทดอยโกร โพรเจคประเทศไทยจำกัดเป็นผู้ดำเนินการ
ถาม : รถไฟญี่ปุ่นวิ่งในไทยได้อย่างไร
ตอบ : รถไฟญี่ปุ่นมีขนาดความกว้างของเพลาล้อ 1.067 เมตร ส่วนรางรถไฟไทยมีความกว้างเพียง 1 เมตร แม้ขนาดจะต่าง แต่ถือเป็นรางมาตรฐานเดียวกัน แค่นำมาปรับฐานล้อด้วยเครื่องอัดไฮโดรลิคก็สามารถใช้งานได้
ที่โรงงานมักกะสันฝ่ายการช่างกลมีความเชี่ยวชาญเรื่องวิศวกรรมเครื่องกลอยู่แล้ว โดยเฉพาะการปรับปรุงความกว้างของฐานเพลาล้อ สามารถปรับได้ 2-3 คันต่อวัน
ก่อนหน้านี้การรถไฟแห่งประเทศไทยเคยได้รับตู้โดยสารรถไฟจากประเทศญี่ปุ่นและประเทศออสเตรเลียมาแล้วโดยนำมาปรับปรุงและดัดแปลงก่อนนำมาใช้งาน ซึ่งสามารถสร้างรายได้และส่งเสริมการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี
ถาม : ความคุ้มค่าอยู่ที่ไหน
ตอบ : ที่ผ่านมาการรถไฟแห่งประเทศไทยเคยนำรถดีเซลรางและรถโดยสารปรับอากาศที่ได้รับจากต่างประเทศ มาปรับปรุงดัดแปลงเป็นรถจัดเฉพาะเพื่อใช้ในกิจการรถไฟ อาทิเช่น ตู้ SRT Prestige และ SRT VIP Train รถไฟชั้นเฟิร์สคลาส นอกจากนี้ยังให้บริการกับประชาชนทั่วไปในรูปแบบขบวนรถท่องเที่ยว เช่น รถไฟ OTOP Train อีกด้วย ถือเป็นขบวนรถไฟที่มีคนจองเช่าใช้บริการมากที่สุด
ขอบคุณ
ทีมพีอาร์การรถไฟแห่งประเทศไทย