- 02 ม.ค. 2565
ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา เปิดข้อมูล "โอไมครอน" พบเข้าสู่เซลล์มนุษย์แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น สาเหตุสำคัญที่การแพร่เชื้อในปอดทำได้ไม่ดีเท่าเดลตา
วันที่ 2 ม.ค. 64 ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Anan Jongkaewwattana ถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) โดยระบุว่า
กลไกการเข้าสู่เซลล์เจ้าบ้านของไวรัสโรคโควิด-19 หรือ SARS-CoV2 เชื่อว่ามี 2 รูปแบบ คือ หลังจากโปรตีนสไปค์จับกับโปรตีนตัวรับ ACE2 ที่ผิวเซลล์ ผิวอนุภาคของไวรัสจะหลอมรวมกับเยื่อหุ้มเซลล์และปลดปล่อยสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์โดยตรง เรียกว่า Direct fusion อีกกลไกหนึ่งคือ หลังจากสไปค์จับกับ ACE2 แล้ว อนุภาคของไวรัสทั้งตัวจะถูกนำส่งเข้าสู่เซลล์ผ่านถุงเล็กๆเรียกว่า endosome และ การหลอมรวมระหว่างผิวอนุภาคของไวรัสกับผิวของ endosome จะเกิดการปลดปล่อยสารพันธุกรรมของไวรัสออกมา เรียกว่า Endocytosis
ถึงแม้ว่าไวรัส SARS-CoV2 จะใช้ได้ทั้ง 2 กลไก แต่เนื่องจาก Direct fusion เกิดได้ไวกว่า ง่ายกว่า ไวรัสจึงเลือกใช้ช่องทางนี้เข้าสู่เซลล์ ไม่ว่าจะสายพันธุ์ดั้งเดิม Alpha Beta หรือ Delta ไม่แตกต่างกัน ดังนั้นสารที่ออกฤทธิ์ยับยั้งกลไก endocytosis อย่าง Hydroxychloroquine จึงใช้ไม่ค่อยได้ผล กับ SARS-CoV2
ข้อมูลที่ออกมาใหม่ค่อนข้างชัดเจนว่า โอไมครอน แตกต่างจากสายพันธุ์อื่น เพราะ โอไมครอน ไม่เข้าสู่เซลล์ด้วยกลไก Direct fusion เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ แต่ใช้ Endocytosis เป็นกลไกหลัก ทำให้หลายคนเชื่อว่า อันนี้อาจเป็นสาเหตุที่โอไมครอนไปติดเซลล์แต่ละประเภทไม่เหมือนสายพันธุ์อื่นๆ เช่น ไปติดเซลล์ปอดได้ไม่ดีเท่า แต่ติดเซลล์หลอดลมได้ดีกว่า เป็นต้น
อาจเป็นไปได้ว่า การรักษาที่ยับยั้งกลไก Endocytosis ที่มีอยู่แล้วในท้องตลาดอาจจะถูกนำมาพิจารณาใช้รักษาการติดเชื้อโอไมครอนในอนาคตก็ได้ครับ ราคาถูกและไม่ต้องติดค่าสิทธิบัตรแพงๆ...ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องน่าลุ้น น่าตื่นเต้นรับปีใหม่นี้เลยครับ
ขอบคุณ FB : Anan Jongkaewwattana