"หมอธีระ"เตือน เด็กติด"โอมิครอน"ความรุนแรงเท่าเดลต้า

"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุด

"หมอธีระ" ระบุว่า

...สำหรับสถานการณ์ไทย

ระบบรายงานจำนวน ATK ปิดปรับปรุงมาตั้งแต่ 28 ธ.ค.64 ลำพังรายงานติดเชื้อเมื่อวาน 3,011 คน ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างละเอียดพอ

จำนวนเคส Omicron "โอมิครอน" ในประเทศไม่มีรายงานเช่นกัน

"หมอธีระ"

...อัพเดต Omicron "โอมิครอน"

1. "ระยะเวลาการกักตัว 2 สัปดาห์มีความจำเป็นสำหรับ Omicron"

The Central Epidemic Command Center (CECC) ของประเทศไต้หวัน แถลงปฏิเสธที่จะลดวันกักตัวตามแนวทางของ US CDC เพราะจากการติดตามในไต้หวัน พบว่าคนที่ติดเชื้อ Omicron มีโอกาสแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้นานถึง 8-12 วันหลังตรวจพบว่าติดเชื้อหรือมีอาการป่วย โดยพิจารณาค่า Cycle threshold

2. "Omicron มีอัตราป่วยจนต้องนอนรพ.น้อยกว่าเดลต้าราว 40% ยกเว้นเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี"

รายงานการวิเคราะห์อย่างไม่เป็นทางการจากนักวิชาการในประเทศเปอร์โตริโก้ เปรียบเทียบอัตราการป่วยนอนรพ.ของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระหว่าง 15 มิถุนายน-15 ตุลาคม 2021 (ช่วงพบ Omicron) กับช่วง 1-17 ธันวาคม 2021 (ช่วงเดลต้า) โดยจำแนกตามช่วงอายุ

พบว่าอัตราการป่วยนอนรพ.ในช่วง Omicron ต่ำกว่าเดลต้าราว 40% (ซึ่งก็สอดคล้องกับรายงานของ UK HSA 31 ธันวาคม 2021 ที่ประเมินโดยคำนวณ Hazard ratio ได้ 33% โดยมีช่วงความเชื่อมั่น 30-37%)

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลคือ อัตราป่วยนอนรพ.ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีลงมานั้นอยู่ในระดับพอกันระหว่าง Omicron และเดลต้า ซึ่งย้ำเตือนว่ากลุ่มเด็กเล็กนั้นควรได้รับการดูแลป้องกัน เนื่องจากยังไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้ในช่วงที่ผ่านมา

ถึงแม้ช่วงวัย 5-11 ปีจะเพิ่งมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติให้ใช้ได้ แต่ทั่วโลกคงต้องใช้เวลาอีกระยะกว่าจะเข้าถึงได้อย่างครอบคลุม

3. จำนวนคนติดเชื้อใหม่ของทั่วโลกสูงขึ้นมาก เกินล้านคนต่อวันอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวานนี้ประเทศที่ติดเชื้อหลักแสนคนต่อวันขึ้นไป มีถึง 4 ประเทศคือ ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร อเมริกา และอิตาลี

และหลักหมื่นมีถึง 17 ประเทศโดยมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีก

ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดจาก BNO พบว่ามีรายงาน Omicron จากทั่วโลกตอนนี้ถึง 131 ประเทศ

...สำหรับไทยเรา

ขอให้ป้องกันตัวอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นช่วงสำคัญ หัวเลี้ยวหัวต่อ

จากที่เคยคาดการณ์ไว้คือ อาจเป็นช่วงถีบตัวขึ้นหลังกลางเดือนมกราคมไปจนถึงปลายเดือน และไปเห็นพีคแรกราวต้นกุมภาพันธ์

ถ้าช่วยกันใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างๆ คนอื่น และลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยงได้อย่างเข้มแข็งพร้อมเพรียง ก็จะลดและชะลอการระบาดลงได้

ด้วยรักและห่วงใย

"หมอธีระ"