- 18 ม.ค. 2565
พบอาการใหม่ "Long COVID" มีผลต่อระบบประสาทต่อเนื่องไปอีก 3-9เดือน บางรายได้รับผลกระทบถึงขั้นเป็นภาวะซึมเศร้า
วันที่ 18 มกราคม 2564 มีรายงาน รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยข้อมูลงานวิจัยอาการคงค้างของโควิด-19 หรือภาวะ "Long COVID" เป็นอาการใหม่ ส่งผลต่อระบบประสาท หนักสุดถึงขั้นเป็นซึมเศร้า
เฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat" โพสต์ว่า 18 มกราคม 2565 ทะลุ 331 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,880,940 คน ตายเพิ่ม 4,787 คน รวมแล้วติดไปรวม 331,027,840 คน เสียชีวิตรวม 5,562,947 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา อินเดีย สเปน อาร์เจนติน่า และฝรั่งเศส
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 82.23 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.82
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 39.56 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 53.2
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 4 ใน 10 อันดับแรก และ 11 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...อัพเดต COVID-19 ดูตามจำนวนเฉลี่ยของการติดเชื้อใหม่รายสัปดาห์ จะเห็นว่าทวีปแอฟริกาลงไปแล้ว ทวีปยุโรป อเมริกาเหนือ และโอเชียเนียกำลังคงที่ เหลือทวีปเอเชียและอเมริกาใต้ที่ยังดูไต่ขึ้น
"Long COVID" กับระบบประสาท
Nature Medicine ฉบับ 17 January 2022 ลงบทความของ Nolen LT และคณะ สรุปภาพรวมของผลกระทบของการติดเชื้อโรคโควิด-19 ต่ออาการทางระบบประสาท
พบว่าผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นจะพบว่าเกิดอาการทางระบบประสาทได้ตั้งแต่ตอนระยะเฉียบพลัน และระยะกึ่งเฉียบพลันได้ถึง 35-85%
นอกจากนี้ยังเกิดปัญหาในระยะยาว มีอาการคงค้างหรือภาวะ "Long COVID" ได้หลากหลายอาการ
เคยมีการสำรวจกลุ่มคนอายุ 30-59 ปี ซึ่งเคยติดเชื้อโรคโควิด และประสบปัญหาด้านความคิดความจำ คนกลุ่มนี้รายงานว่ามีถึง 30% ที่ไม่สามารถทำงานที่เคยทำได้
อาการทางระบบประสาทบางอย่าง เมื่อเวลาผ่านไปก็ค่อยๆ ดีขึ้น แต่บางส่วนก็มีรายงานว่ามีลักษณะเป็นๆ หายๆ กลับซ้ำขึ้นมาเป็นระยะ
แม้แต่คนที่เคยติดเชื้อ แต่ไม่ต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล ก็มีรายงานว่าประสบปัญหาอาการทางระบบประสาทนานไปถึง 3-9 เดือน เช่น เวียนหัวบ้านหมุน ซึมเศร้า มีปัญหาด้านความคิดและความจำ รวมถึงการดมกลิ่นและการรับรส ทั้งนี้มีคนจำนวนไม่น้อยที่อายุน้อยกว่า 65 ปี
ดังนั้นการป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจึงจำเป็น ไม่ติดเชื้อจะดีกว่า...
อ้างอิง
Nolen, L.T., Mukerji, S.S. & Mejia, N.I. Post-acute neurological consequences of COVID-19: an unequal burden. Nat Med (2022).
ขอบคุณ Thira Woratanarat