- 31 ม.ค. 2565
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ถึง โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2
"หมอธีระ" รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ระบุว่า
31 มกราคม 2565
ทะลุ 375 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,083,202 คน ตายเพิ่ม 5,654 คน รวมแล้วติดไปรวม 375,031,297 คน เสียชีวิตรวม 5,681,087 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อินเดีย รัสเซีย เยอรมัน และอิตาลี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 86.77 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 75.85
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็นร้อยละ 49.97 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 30.1
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก
...น่าจับตาดู โอมิครอน สายพันธุ์ BA.2
เพราะจำนวนการติดเชื้อของ BA.2 เพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้ (ภาพที่ 1) ทั้งๆ ที่เค้าเพิ่งผ่านการระบาดหนักของ BA.1 มา ดังนั้นตอนนี้จึงเห็นจำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของแอฟริกาใต้ทรงๆ
สัดส่วนการตรวจพบ BA.2 สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว (ภาพที่ 2)
สถานการณ์ที่เห็นนี้ ดูจะสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ออกมาชี้ให้เห็นว่า BA.2 แพร่เร็วกว่า BA.1 เดิม แม้ตอนนี้ข้อมูลที่มีอยู่นั้นมีแนวโน้มว่าการดื้อต่อภูมิคุ้มกันของ BA.2 จะไม่หนักไปกว่า BA.1 ก็ตาม แต่เรื่องการป่วยรุนแรงและการติดเชื้อซ้ำนั้นยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะบอกได้
...มองบทเรียนในอดีตที่ผ่านมา ไม่ว่าจะที่ใดในโลก
ความสูญเสียจากระลอกสองและสามในปีก่อนนั้น รัฐบาลแต่ละประเทศควรวิเคราะห์ให้ดีว่าเกิดขึ้นเพราะเหตุใด และนำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ประเทศมีระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
กระบวนการตัดสินใจ ณ จุดเวลาวิกฤตินั้น จำเป็นต้องใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ ความรู้ที่ผ่านการศึกษาตามขั้นตอนมาตรฐาน และเป็นที่ยอมรับของสากล
ยิ่งหากเป็นวิกฤติต่อสวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของคนในสังคม ยิ่งต้องไม่ยอมให้เกิดการตัดสินใจนโยบายและมาตรการที่นำไปสู่ social experiment ซึ่งไม่ยุติธรรมต่อทุกคนในสังคม
ประชาชนทุกคนในสังคมควรมีสิทธิที่จะเข้าถึงข้อมูลรายละเอียดเชิงลึกที่ใช้ในการตัดสินใจนโยบายและมาตรการต่างๆ ไม่เกิดภาวะเปิดเท่าที่อยากเปิด และทำให้คนในสังคมอาจไม่รู้เท่าทันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการตัดสินใจนั้นในระยะต่อมา
กลไกการตรวจสอบและถ่วงดุลการตัดสินใจนโยบายและการทำงานของหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ สวัสดิภาพ และความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม จำเป็นต้องมี และควรสามารถ veto ได้
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนโยบายควบคุมป้องกันโรค ยา วัคซีน รวมไปถึงเรื่องอื่นๆ ก็ตาม
หากทำเช่นนี้ได้ ในอนาคตสังคมจะมีความพร้อมในการรับมือภาวะวิกฤติได้ดียิ่งขึ้น ประชาชนก็จะมีระดับความรอบรู้ มีสมรรถนะในการดูแลตนเองดีขึ้น เป็น health literate society
Health literacy จะเกิดขึ้นได้ ต้องทำให้คนสามารถตั้งคำถามสงสัย เข้าถึงข้อมูล ค้นหาข้อมูลที่ต้องการได้ เพื่อทำความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การตัดสินใจประพฤติปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
...สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
การระบาดยังรุนแรงต่อเนื่อง เป็นกำลังใจให้ทุกคนป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ ติดเชื้อไม่ใช่เรื่องธรรมดา ไม่กระจอก และส่งผลระยะยาวเป็น Long COVID ได้
ใส่หน้ากากเสมอ รักษาระยะห่างจากคนอื่น เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้กับผู้อื่น
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด