- 23 มี.ค. 2565
หมอธีระ เปิด 5 ปัจจัยหลัก ทำไมผู้ป่วยโควิดเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน สูงกว่าคนปกติถึง 40% เสี่ยงเป็นโรคนี้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่
เกาะติดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งสร้างความกังวลให้กับประชาชน ถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอน ถือว่าเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย มีลักษณะคล้ายไข้หวัด แต่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว
ล่าสุด หมอธีระ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ได้เผยถึงกลไกการเกิดโรคเบาหวานหลังติดเชื้อโรคโควิด-19 โดยระบุว่า หลักฐานจากการวิจัยทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ชี้ให้เห็นว่า คนที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคเบาหวานมากกว่าคนที่ไม่ติดเชื้อ ความเสี่ยงเกิดได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก กลไกที่ทำให้เกิดเบาหวานนั้นมีการตั้งสมมติฐานหลายประเด็นที่อาจเป็นไปได้ ดังนี้
1. ไวรัส SARS-CoV-2 อาจติดเชื้อและแบ่งตัวในเซลล์ของตับอ่อน และทำลายเซลล์ทั้งประเภท exocrine และ endocrine
2. จากการชันสูตรศพผู้ป่วยที่เสียชีวิตพบว่า การติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเบต้าเซลล์ ซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตอินซูลิน โดยกระบวนการเปลี่ยนแปลงนั้นผ่าน eIF2 signaling pathway
3. การทำให้เกิดการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติไป (autonomic dysfunction)
4. การทำให้เกิดภาวะภูมิต่อต้านตนเอง (induced autoimmunity)
5. การทำให้เกิดกระบวนการอักเสบเรื้อรัง/ต่อเนื่อง (low grade inflammation)
ทั้งนี้ หมอธีระ ยังระบุอีกว่า คงต้องมีการติดตามผลการศึกษาต่อไปว่ากลไกใดที่จะเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดเบาหวานในกลุ่มที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 อย่างไรก็ตาม การป้องกันตัวอย่างเป็นกิจวัตรนั้นเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ขอบคุณ FB : Thira Woratanarat