- 28 มี.ค. 2565
ทิม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล แจ้งติดโควิดรอบ 2 ภายใน 1 เดือน หมอยืนยันไม่ใช่ซากเชื้อจากคราวก่อน
วันที่ 28 มี.ค. 65 ทิม พิธา หรือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล โพสต์แจ้งข่าวผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ติดโควิดรอบ 2 ภายใน 1 เดือน โดยมีเนื้อหาของโพสต์ ดังนี้
เรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพครับ จากที่ผมได้ชี้แจงกับพี่น้องประชาชนผ่านช่องทางส่วนตัวเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ว่าผมและลูกสาวของผมตรวจพบเชื้อโควิดผ่านชุดตรวจ ATK ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน เข้าสู่ระบบ HI และกักตัวเป็นเวลา 10 วันหลังจากที่มีอาการ จนหายจากอาการโควิด และตรวจไม่พบเชื้อในสัปดาห์ถัดมา กลับไปทำงานตามปกติ และยังตรวจ ATK เป็นประจำทุกวัน
อย่างไรก็ตาม เมื่อวานซืนนี้ผมได้มีอาการไม่สบายอีกครั้งหนึ่งและตรวจพบเชื้อโควิดผ่านชุดตรวจ ATK ผลเป็นบวกทั้งๆ ที่ไม่น่าเป็นไปได้ ผมจึงไปตรวจยืนยันผลอีกครั้งโดยการตรวจ PCR ก็พบว่าติดเชื้อโควิดอีกครั้งหนึ่ง โดยมีค่า CT อยู่ที่ 19 ซึ่งแพทย์ระบุว่าหมายถึงปริมาณเชื้อมาก วินิจฉัยว่าเป็นการติดโควิด (reinfection) อีกครั้งหนึ่ง ไม่ใช่ซากเชื้อจากการเป็นโควิดครั้งก่อน
การติดโควิดครั้งที่สองของผมสันนิษฐานว่าติดจากช่างภาพที่ร่วมงานกัน (ถือเป็น close contact เดียวที่ติดโควิด) โดยผมติดคนเดียว ลูกสาวของผมไม่ได้ติดด้วยและตอนนี้ลูกอยู่ในความดูแลของคุณแม่แล้วครับ
เมื่อผมได้คอนเฟิร์มผลด้วยการตรวจ PCR ว่าเป็นการติดซ้ำครั้งที่ 2 (Reinfection) แน่นอน ผมได้สอบถามแพทย์เรื่องการติดซ้ำของสายพันธุ์โอมิครอน BA1 และ BA2 ได้รับการชี้แจงว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และในอังกฤษมีผู้ติดโควิดซ้ำถึง 650,000 คน โดยโอมิครอนมีโอกาสติดซ้ำมากกว่าเดลตาถึง 5 เท่า ตอนนี้กำลังมีการส่งต่อผลแล็บของผมเพื่อตรวจสายพันธุ์ต่อไปครับ
ผมขอใช้โอกาสนี้ขอโทษที่ผมไม่สามารถไปร่วมงาน Nation Dinner Talk ในเย็นวันนี้ได้ และไม่สามารถไปพบปะ เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติตามแผนเดิมได้ อย่างไรก็ตาม ผมก็ขอทำงานในสถานการณ์ที่ต้องกักตัวต่อไป และขอติดตามการบริหารสถานการณ์โควิดและการแก้ไขปัญหาค่าครองชีพของรัฐบาลต่อไป
ตัวผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ติดตามการบริหารสถานการณ์โควิดมาโดยตลอด ขอใช้โอกาสนี้สื่อสารกับทุกท่านครับว่า ในบริบทการเปลี่ยนผ่านของโควิดจากโรคระบาดระดับโลก (Pandemic) เป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) นั้นยังมี 2 ปัจจัยสำคัญที่เรายังจำเป็นต้องติดตามการทำงานของรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เราสามารถเปิดเศรษฐกิจได้อย่างสมดุลกับการรักษาความมั่นคงทางสาธารณสุขให้กับพี่น้องประชาชน
เรื่องแรก คือทรัพยากรสาธารณสุขครับ Bottom line คือ จำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ใส่เครื่องช่วยหายใจ รัฐบาลเคยคาดการณ์ไว้ 2 ฉากทัศน์ว่า 1) ในฉากทัศน์ที่มีผู้ป่วยโควิดสูงที่สุด 4-5 หมื่นคนต่อวันในเดือนเมษายน จะมีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจสะสมมากที่สุด 800 คนในเดือนพฤษภาคม 2) ในฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด จะมีผู้ป่วยโควิด 1 แสนคนต่อวันในเดือนเมษายน และจะมีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจสะสมมากที่สุด 1,600 คน ซึ่งมากกว่าระลอกเดลตาที่ 1,100 คน สถานการณ์ในตอนนี้มีผู้ใส่ท่อช่วยหายใจ 644 คนแล้ว มีแนวโน้มที่รุนแรงมากกว่ากรณีแรกที่ 800 คน ไม่ว่ารัฐบาลจะคาดการณ์อย่างไร ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับกรณีที่เลวร้ายที่สุด และผมขอทวงถามความคืบหน้าของการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์รองรับผู้ป่วยเหลือง-แดง อีกครั้ง เช่นเดียวกับที่ผมทวงถามไปแล้วในหลายโอกาส
เรื่องที่สอง คือ วัคซีนสำหรับเด็ก การระบาดของโอมิครอนมีผลกระทบกับเด็กมากกว่าในระลอกที่ผ่านๆ มามาก และการฉีดวัคซีนให้กับเด็ก 5-11 ปี ควรจะเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่ง แต่ จากข้อมูลล่าสุดในเว็บไซต์ของกรมควบคุมโรค มีการฉีดวัคซีนให้เด็ก 5-11 ปีแล้ว 1,889,766 เข็ม ใน 51 วัน เฉลี่ยวันละ 37,000 เข็ม สำหรับระบบสาธารณสุขไทยที่พิสูจน์มาแล้วว่าสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 1 ล้านเข็ม ก็ถือว่าภาครัฐยังมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการเพื่อให้เด็กได้รับวัคซีนรวดเร็วกว่านี้ หากมีการจัดลำดับความสำคัญเสียใหม่
ท้ายที่สุดนี้ ผมขอให้ทุกท่านปลอดภัยและมีสุขภาพที่แข็งแรง ได้กลับไปพบปะกับครอบครัวและคนที่ท่านรักในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงครับ