- 05 เม.ย. 2565
เช็กระดับอาการ ผู้ป่วยโควิด-19 มีอาการป่วยลักษณะแบบนี้ เข้าข่ายเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีอะไร เพื่อเข้ารับการรักษาอย่างเหมาะสม
สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์โอไมครอน หรือ โอมิครอน (Omicron) ทำให้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าสายพันธุ์โอไมครอนจะเป็นสายพันธุ์ที่แสดงอาการน้อย มีลักษณะคล้ายไข้หวัด แต่ก็สามารถแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งสร้างความกังวลใจให้ทุกคนเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนต่างสงสัยว่าหากพบมีการติดเชื้อโควิดกี่วันถึงจะแสดงอาการให้เรารู้ อีกทั้งกังวลว่าระบบการแพทย์และสาธารณสุข เนื่องจากผู้ป่วยที่อาการหนักต้องอยู่ใกล้แพทย์ อาจไม่มีเตียงรักษารองรับในโรงพยาบาล โดยเฉพาะใน กทม.และปริมณฑล ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงออกแนวทางให้ผู้ป่วยติดเชื้อ กลุ่มที่ไม่มีอาการ สามารถแยกกักตัวเองอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation
ทั้งนี้ ในสถานการณ์ที่ผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเราจึงควรประเมินอาการตัวเองว่าเป็นผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว สีเหลือง สีแดง เพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม
ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว คือ ผู้ป่วยไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อย ได้แก่ ไข้ต่ำ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ไม่รับกลิ่น-รส ตาแดง ผื่น ถ่ายเหลว หายใจปกติ ไม่เหนื่อย ไม่มีปอดอักเสบ ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้สามารถรักษาแบบแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) หรือ หอผู้ป่วยเฉพาะกิจ (Hospitel) หรือ ศูนย์พักคอย (Community Isolation)หรือ โรงพยาบาลสนาม และโรงพยาบาลต่างๆ
ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ได้แก่ อ่อนเพลีย แน่นหน้าอก เหนื่อยหอบ หายใจลำบาก หายใจเร็ว ไอแล้วเหนื่อย เวียนศีรษะ อาเจียน ปอดอักเสบ ถ่ายเหลวไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งต่อวัน กลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป, ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว 7 โรค คือ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง, หัวใจและหลอดเลือด, ไตวายเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง, โรคอ้วน น้ำหนักมากกว่า> 90 กก., มะเร็ง, เบาหวาน และกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) กรณีเด็กเล็ก มีอาการซึม หายใจลำบาก กินนม/อาหารน้อยลง ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการหนักและรุนแรง ได้แก่ หอบเหนื่อยตลอดเวลา พูดไม่เป็นประโยค หายใจแล้วเจ็บหน้าอก หายใจลำบาก แน่นหน้าอกตลอดเวลา ซึม ตอบสนองช้า ไม่รู้สึกตัว ปอดบวม ปอดอักเสบรุนแรง ออกซิเจนลดลง ซึ่งผู้ที่มีอาการเหล่านี้ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ขอบคุณ FB : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ