- 09 เม.ย. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความหัวข้อ "อัพเดตสถานการณ์โควิดในไทย 8 เม.ย 65"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์
"อัพเดตสถานการณ์โควิดในไทย 8 เม.ย 65" .... คราวนี้ ผมใช้การพล็อตกราฟดูแนวโน้มการระบาด ด้วยค่า 7-day rolling average (ค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วัน) ของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ด้วย (ดูเส้นสีเหลืองในรูปซ้าย) ทำให้ดูแนวโน้มได้ง่าย ได้ดีกว่าดูกราฟรายวัน ที่มันขึ้นๆลงๆ ตามการนำเข้าข้อมูลรายวันที่มาไม่ค่อยสม่ำเสมอกันในแต่ละวัน
จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 7 วันของจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ซึ่งรวมทั้งค่าจาก PCR และ ATK (เส้นสีเหลืองรูปซ้าย) ก็เป็นการยืนยันว่าเราผ่านจุดพีค (peak) ของการระบาดมาแล้ว
โดยในเดือนมกราคม มีการระบาดของเชื้อสายพันธุ์เดลต้าเพิ่มขึ้นอยู่ช่วงหนึ่งหลังปีใหม่ จากนั้นกราฟเริ่มพุ่งขึ้นเมื่อเริ่มการระบาดของโอมิครอนตอนต้นเดือนกุมภาพันธ์ แล้วพุ่งชันมากเนื่องจากโอมิครอนที่แพร่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนมีถึงจุดพีดตอนต้นเดือนมีนาคม แล้วค่อยลดลงมา (ซึ่งสอดคล้องกับที่ทำนายไว้ ว่าพีคการระบาดของโอมิครอนทั่วโลก มักจะขึ้นเร็วลงเร็วในช่วงประมาณ 2 เดือน)
ประเด็นที่น่าแปลกใจคือ กราฟที่กำลังลงมานั้น กลับสูงขึ้นอีกในช่วงกลางเดือนมีนาคม ... ซึ่งคำอธิบายหนึ่งที่พอเป็นไปได้คือ การระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่เข้ามาแทนที่ ฺBA.1 (โอมิครอนที่ระบาดเข้ามาในช่วงแรก) ตามข่าวที่ออกมาช่วง 14 มี.ค. ว่าพบสายพันธุ์โอมิครอน 99.69 % เหลือเดลตาแค่ 0.31 % โดยสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน พบเป็น BA.1 32.4 % และ BA.2 67.6 %
ตามข้อมูลที่มีตอนนี้ สายพันธุ์ย่อย BA.2 นั้น ไม่ได้มีความรุนแรงต่อโรคมากกว่า BA.1 แต่มีความสามารถในการแพร่ระบาดมากกว่า และอาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้การระบาดไม่ลดลง ตามสูตร "โอมิครอน ระบาด 2 เดือน" ที่คาดไว้ (ในประเทศเพื่อนบ้านเอเชียอื่นๆ เป็นไปตามสูตร "2 เดือน" ทั้งนั้น .. ดูรูปประกอบ)
อย่างไรก็ตาม พอเข้ามาต้นเดือนเมษายนอย่างตอนนี้ กราฟการระบาดก็มีแนวโน้มจะลดลง ซึ่งคงต้องรอดูสัปดาห์หน้าที่จะเข้าสู่เทศกาลสงกรานต์ ว่าจะผลให้การระบาดสูงขึ้นอีกหรือเปล่า เหมือนตอนช่วงหลังปีใหม่หรือไม่
ส่วนกราฟของค่าอื่นๆ คือ "ผู้ป่วยปอดอักเสบ" "ผู้ป่วยใส่ท่อหายใจ" และ "ผู้เสียชีวิตรายวัน" ยังมีค่าสูงอยู่ แต่ก็ไม่ได้พุ่งสูงชันเหมือนช่วงเดือนแรกๆ ของการระบาดแล้ว (ค่าพวกนี้ จะเป็นผลกระทบในช่วง "14 วันตามมา" จากค่าผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน ดังนั้น ถ้าสถานการณ์การระบาดค่อยๆ ลดลงตอนนี้ ค่าพวกนี้ก็จะลดลงในเดือนหน้าครับ)
สรุปว่า ถ้าไม่มีอะไรผิดปรกติไปกว่านี้ (เช่น มีสายพันธุ์ใหม่อันตรายๆ ออกมาอีก) คาดว่าเดือนพฤษภาคมนี้ สถานการณ์คงเข้าสู่ปรกติมากขึ้นครับ
อดทนกันอีกหน่อยนะครับ "ใส่หน้ากาก - เว้นระยะห่าง - ระบายอากาศ - ฉีดวัคซีนกระตุ้น" ยังเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคโควิด .. และถ้าเป็นไปได้ สงกรานต์ปีนี้ ลดการไปเยี่ยมญาติผู้ใหญ่นะครับ จะได้ไม่พลาดนำเชื้อโรคไปสู่ท่าน จะอันตรายเปล่าๆ
ปล . ทั้งหมดนี้เป็นการคาดการณ์จากค่าที่รายงานอย่างเป็นทางการของรัฐ ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ค่าน่าจะต่ำกว่าค่าจริงประมาณ 2-3 เท่าเนื่องจากยังมีการตรวจน้อยกว่าที่ควร แต่ผมว่ามันก็ยังบอก "แนวโน้ม" การระบาดได้ครับ