- 14 เม.ย. 2565
ถกกันสนั่น อายุพระนอนเมืองเสมา จ.นครราชสีมา หลังมีคนบอกอายุ 3,000 ปี แซงหน้าศาสนาพุทธ ล่าสุด กรมศิลป์ เฉลยแล้ว
ถกสนั่น อายุพระนอนเมืองเสมา หลังคนบอกอายุ 3,000 ปี ล่าสุด กรมศิลป์ เฉลยแล้ว กลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ชาวเน็ตให้ความสนใจไม่น้อยในโลกออนไลน์ เมื่อเพจเฟซบุ๊กหนึ่งเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับ พระนอนเมืองเสมา วัดธรรมจักรเสมาราม ต.เสมา อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ซึ่งในเพจระบุว่า อายุของพระนอนเมืองเสมา มีถึง 3,000 ปี ทำให้ข้อมูลดังกล่าวตกเป็นที่ถกเถียงอย่างมาก
เนื่องจากศาสนาพุทธเพิ่งจะมีมาเพียง 2,565 ปีเท่านั้น แต่กลับมีพระพุทธรูปที่มีอายุถึง 3,000 ปี ทำให้ชาวเน็ตต่างสงสัยว่า จะมีพระพุทธรูปที่มีอายุถึง 3,000 ปีได้อย่างไร กระทั่งล่าสุดมีคำเฉลยแล้วว่า พระนอนเมืองเสมา มีอายุเท่าไหร่กันแน่
โดย เพจเฟซบุ๊ก สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร ได้โพสต์ข้อความชี้แจงถึงเรื่องดังกล่าว ยืนยันว่า พระนอนเมืองเสมา เป็นพระนอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยจริง แต่มีอายุเพียง 1,300 ปี ไม่ใช่ 3,000 ปีแต่อย่างใด ซึ่งพระนอนเมืองเสมา สร้างขึ้นในวัฒนธรรมทวารวดี มีอายุอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12 - 16
และจากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบศิลปกรรม และวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีที่พบจากการขุดค้น จึงสันนิษฐานว่า พระนอนองค์นี้ ถูกสร้างขึ้นในช่วงพุทธศตวรรษที่ 13 หรือประมาณ 1,300 ปีมาเเล้วนั่นเอง
โดยการดำเนินงานโบราณคดีใน ปี พ.ศ. 2533 - 2534 หน่วยศิลปากรที่ 6 นครราชสีมา (ขณะนั้น) ทำให้ได้หลักฐานสำคัญหลายประการเกี่ยวกับองค์พระนอน คือ พบหลักฐานส่วนอาคารที่เป็นโครงสร้างรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าก่อด้วยอิฐ ขนาดกว้าง 6.50 เมตร ยาว 26 เมตร เพื่อประดิษฐานพระนอน
ได้พบหลักฐานโบราณวัตถุประเภทต่างๆ ประกอบไปด้วย เศษภาชนะดินเผาแบบทวารวดี เศษภาชนะดินเผาแบบเขมร พระพุทธรูปสำริด ประติมากรรมสำริดรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร โบราณวัตถุประเภทหิน ได้แก่ ธรรมจักรและกวางหมอบ
นอกจากนี้บริเวณองค์พระนอน พบหลักฐานว่า องค์พระนอน (พระพุทธรูปไสยาสน์) ประกอบด้วยหินทรายสีแดงอยู่ในลักษณะเดิมเกือบทุกส่วน ยกเว้นส่วนพระเศียรและส่วนพระบาท สำหรับรูปแบบของพระนอน หรือพระพุทธไสยาสน์นี้ ได้รับอิทธิพลของศิลปะแบบทวารวดี ที่มีอิทธิพลของศิลปะแบบพื้นเมือง คงสร้างขึ้นราวพุทธศตวรรษที่ 13 เป็นต้นมา ใกล้เคียงกับชุมชนสมัยทวารวดีภายในเมืองโบราณเสมา
ข้อมูลจาก สำนักศิลปากรที่ ๑๐ นครราชสีมา กรมศิลปากร