- 27 เม.ย. 2565
มะเร็งเป็นอีคโรคหนึ่งที่เรียกได้ว่าอันตรายเป็นอันดับต้นๆ และหลายคนได้รู้จักโรคมะเร็งหลายชนิดแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่าบริเวณในโพรงจมูกก็สามารถเกิดมะเร็งได้เช่นกัน อาการเริ่มต้นยังมีลักษณะคล้ายกับไข้หวัดปล่อยทิ้งไว้จนกระทั่งเกิดการลุกลามซึ่งยากแก่การรักษา
มะเร็งในโพรงจมูกจะเกิดบริเวณหลังโพรงจมูก โดยโพรงจมูกจะมีลักษณะเป็นโพรงกว้าง อยู่ทางด้านหลังของจมูก เป็นทางผ่านของอากาศไปยังผนังคอ ตำแหน่งนี้จะมีสารบางอย่างไหลผ่านเข้าไปได้ง่าย เช่น ควันบุหรี่ ควันพิษต่าง ๆ หรือสารที่เกิดจากการเผาไหม้และอาจเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ส่งผลให้เกิดการระคายเคืองบริเวณดังกล่าวได้ง่าย อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัด มักมีอาการไอ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ทำให้เข้าใจผิดบ่อยครั้ง
อาการของโรค
การเกิดมะเร็งในโพรงจมูก ระยะแรกจะมีอาการหูอื้อข้างเดียว ชาที่บริเวณใบหน้าบางส่วน และมีก้อนนูนอยู่ตรงต้นคอใต้ติ่งหู เรียกส่วนนี้ว่าลำคอด้านนอกส่วนบน บางครั้งมีเลือดกำเดาไหลและคัดจมูกข้างเดียว หรือบางครั้งเห็นภาพซ้อน โดยทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งในโพรงจมูก ซึ่งแตกต่างจากไข้หวัดทั่วไป หากมีอาการเหล่านี้นอกเหนือจากไอ เจ็บคอ และน้ำมูกไหล ควรรีบพบแพทย์ โดยเฉพาะในคนที่มีอาการบวมมากขึ้น เลือดกำเดาไหลมากขึ้น หูอื้อมากขึ้น ปวดหู และเกิดการติดเชื้อในหูชั้นกลาง
วิธีการรักษา
แพทย์จะทำการส่องดูภายในจมูก โดยใช้กระจกหรือกล้องบางชนิด เพื่อดูที่หลังโพรงจมูกว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นหรือไม่ หากพบเนื้องอกบางอย่าง ที่ส่วนมากมักเป็นข้างใดข้างหนึ่ง มีลักษณะเนื้อนูน ผิวขรุขระ อาจมีเลือดซึมหรือไม่มีเลือด แพทย์จะทำการตัดชิ้นเนื้อนั้นออกมาตรวจ และดูว่ามีการกระจายไปยังส่วนอื่น ๆ หรือไม่ หรือกระจายไปยังส่วนไหนแล้วบ้าง เมื่อตรวจเรียบร้อยแล้วจะเริ่มการรักษาด้วยวิธีฉายแสง
ผลข้างเคียงหลังจากการฉายแสงมะเร็งโพรงจมูก
ผู้ป่วยจะเจ็บคอค่อนข้างมาก จึงมักให้อาหารทางกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ก่อนทำการฉายแสง แพทย์จะให้ผู้ป่วยทำฟันก่อน เพราะหลังฉายแสงแล้วจะไม่มีการยุ่งกับคนไข้ที่ฟันผุเด็ดขาด เนื่องจากจะทำให้ติดเชื้อและเกิดการอักเสบที่กระดูกกรามได้ง่าย
ข้อเสนอแนะ
ควรสังเกตตัวเองอยู่เสมอเพื่อการรักษาที่ทันเวลา เนื่องจากโรคมะเร็งในโพรงจมูกหากได้รับการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดีกว่าการรักษาในระยะลุกลาม ในส่วนของระยะเวลาการรักษา บางรายสามารถรักษาให้หายได้ภายใน 3-5 ปี แต่บางรายก็อาจใช้เวลาหลายสิบปี ขึ้นอยู่กับอาการ
ข้อมูลจาก
ศ.คลินิก นพ.ครรชิตเทพ ตั่นเผ่าพงษ์
ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล
Cr.rama.mahidol.ac.th/