- 20 พ.ค. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุ "อย่าใช้เตาแก๊สในห้องอากาศไม่ถ่ายเทครับ อันตรายถึงตายได้"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ระบุข้อความว่า
เมื่อวานนักข่าวโทรมาขอความเห็น เรื่องที่มีคนโพสต์ว่า "อบขนมด้วยเตาแก๊สในห้องแอร์ แล้วหน้ามืดเป็นลม ถึงกับอาเจียน !?"
ก็เตือนไปว่า อันตรายมากนะครับ "แก๊สหุงต้ม" ถ้ารั่วซึมออกมา สะสมในพื้นที่ที่อากาศปิด แล้วสูดดมไปมากๆ นี่ถึงตายได้เลยนะครับ !
ตามในโพสต์นั้น บอกว่า เขาเอาเตาอบขนม แบบใช้แก๊ส ไปอบในห้องแอร์ ที่ปิดประตู ทุกบาน อบตั้งแต่ 10โมงเช้า
พอ 4 โมงเย็น เริ่มมีอาการปวดหัว วูบๆ ตาลาย ในหูมีเสียงวิ้งๆ ปลายมือ-ปลายเท้าเย็น จะเป็นลม ... พอตกค่ำ มีอาการอ้วกตามมา
ญาติเข้ามา ก็ทักว่าเหม็นกลิ่นแก๊ส แต่คงเพราะมีกลิ่นเนยกลบ เลยไม่ได้กลิ่นแก๊สกัน ... ยังดีว่า สุดท้าย พอออกไปพักแล้ว อาการป่วยดีขึ้น
เรื่องนี้ ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เคยเตือนเอาไว้แล้ว ถึง "อันตรายจากการสูดดมก๊าซหุงต้ม" ว่าก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ ตา และระบบประสาทส่วนกลางได้
โดยหากสูดดมเข้าไป จะทำให้ปริมาณก๊าซออกซิเจนในปอดลดลง ส่งผลให้ปริมาณออกซิเจนในเลือดและเนื้อเยื่อต่างๆ ลดลงตามไปด้วย
ซึ่งมีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เกิดอาการหายใจสั้น หัวใจเต้นเร็ว มึนงง ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวไม่อยู่
หากขาดออกซิเจนอยู่นาน อาจทำให้เกิดอาการชัก หมดสติ และเสียชีวิตได้
หรือถ้าบังเอิญสัมผัสกับก๊าซหุงต้ม (ในสภาพของเหลว) อาจก่อให้การเกิดแผลไหม้ ปวดแสบปวดร้อน และเกิดการระคายเคืองที่ระบบทางเดินหายใจและตา เกิดหลอดลมอักเสบ จมูกอักเสบ เยื่อบุตาอักเสบ
การเผาไหม้ของก๊าซหุงต้ม ยังทำให้เกิดก๊าซหลายชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ถ้าสูดดมเข้าไป อาจเกิดการขาดออกซิเจนเฉียบพลัน ทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ ยังเป็นอันตรายสะสมระยะยาวได้ เพราะก๊าซจะผ่านจากปอด ไปสู่เลือด และสะสมที่อวัยวะที่มีไขมันสูง เช่น สมอง ตับ หัวใจ และไต ก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้
ดังนั้น จึงต้องระวัง อย่าสูดดมโดยเด็ดขาด ควรใช้ในที่ที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เพื่อลดความเข้มข้นของปริมาณก๊าซหุงต้ม ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
การปฐมพยาบาล มีดังนี้
1. หากสัมผัสกับก๊าซหุงต้มในสภาพของเหลว จะเกิดอาการคล้ายหิมะกัด ต้องรีบทำให้บริเวณที่สัมผัสอบอุ่นขึ้น โดยแช่น้ำร้อนที่อุณหภูมิไม่เกิน 41 องศาเซลเซียส และรีบส่งแพทย์
2. หากเข้าตาให้ล้างตาด้วยน้ำอุ่นเป็นเวลาอย่างน้อย 15 นาที ถอดคอนแทกส์เลนส์ออก (ถ้ามี) เปิดเปลือกตา โดยให้เปลือกตาอยู่ห่างจากลูกตา เพื่อแน่ใจว่าล้างน้ำอุ่นได้อย่างทั่วถึง และรีบส่งแพทย์
3. หากพบเห็นผู้สูดดมหรือได้รับก๊าซหุงต้ม แล้วหมดสติ ต้องเคลื่อนย้ายผู้สูดดมไปยังที่มีอากาศถ่ายเท หากหยุดหายใจหรือหายใจผิดปกติ ให้ผายปอดหรือใช้เครื่องช่วยหายใจ จากนั้นรีบนำส่งแพทย์ทันที
ข้อมูลจาก (คลิก)