- 20 พ.ค. 2565
กรมชลเตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 19-25 พ.ค. 2565 ตามประกาศพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา
วันที่ 20 พ.ค. 2565 มีรายงานว่า กรมชลประทาน เตือนเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก หลังกรมอุตุนิยมวิทยาเตือนภัยฝนตกหนักวันที่ 19-25 พ.ค. 2565
โดยนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เผยว่า จากพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาว่าในช่วงวันที่ 19-23 พ.ค. 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลางด้านตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
นอกจากนี้ยังมีการประเมินสถานการณ์น้ำฝนพบว่ามีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่องอาจส่งผลให้ เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งทำให้พื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ในช่วงวันที่ 19-25 พ.ค.2565 ในพื้นที่ ภาคเหนือ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.แพร่ จ.น่าน จ.ตาก จ.อุตรดิตถ์ จ.กำแพงเพชร จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.นครสวรรค์ และจ.อุทัยธานี
พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบก้วย จ.นครราชสีมา จ.ชัยภูมิ จ.บึงกาฬ จ.หนองคาย จ.อุดรธานี จ.สกลนคร และจ.นครพนม พื้นที่ภาคกลาง ประกอบด้วย จ.กาญจนบุรี จ.ราชบุรี จ.เพชรบุรี ร่วมถึงจ.กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
พื้นที่ภาคตะวันออก ประกอบด้วย จ.สระแก้ว จ.ปราจีนบุรี จ.นครนายก จ.ระยอง จ.จันทบุรี และจ.ตราด
พื้นที่ภาคใต้ ประกอบด้วย จ.ระนอง จ.พังงา และจ.ภูเก็ต
ทางกรมชล ได้ประกาศว่า เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบพื้นที่ทั้งในเขตชลประทาน และนอกเขตชลประทาน จึงสั่งการให้โครงการชลประทานในพื้นที่ ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน อย่างใกล้ชิด และกำชับให้เจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง รวมทั้งพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ
พร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันกั้นน้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เร่งระบายน้ำในพื้นที่ ที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม รับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมทั้งเตรียมแผนเผชิญเหตุรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ ระบบสื่อสารสำรองเพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที รวมถึงประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับทราบอย่างต่อเนื่องด้วย