- 31 พ.ค. 2565
เปิด 4 ข้อไม่จริง เกี่ยวกับ กฎหมาย PDPA หรือ กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ทำชาวเน็ตส่วนใหญ่เข้าใจผิด รู้ไว้ก่อน มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย. 2565 นี้
เปิด 4 ข้อไม่จริง เกี่ยวกับกฎหมาย PDPA ทำชาวเน็ตส่วนใหญ่เข้าใจผิด หลายคนกำลังตื่นตัวอย่างมากสำหรับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือ PDPA จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายของประเทศไทยในการก้าวสู่ การให้ความสำคัญต่อสิทธิส่วนบุคคล ทว่าตัวกฎหมายยังไม่ทันเริ่มใช้ หลายคนก็เริ่มเกิดความเข้าใจผิดในตัวบทกฎหมายโดยเฉพาะ แบบไหนถึงเรียกว่า เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
โดย กฎหมาย PDPA มีบทบาทสำคัญในการคุ้มครองและให้สิทธิกับเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลของเรา รวมถึงได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้เกิดขึ้นกับบุคคลหรือนิติบุคคลในการเก็บข้อมูล รวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล การใช้ข้อมูล หรือเพื่อการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ หากผู้ใดหรือองค์กรใดไม่ปฏิบัติตามนั้น มีโทษทั้งทางแพ่ง โทษทางอาญา และโทษทางปกครอง
สำหรับคนที่ใช้โลกออนไลน์เป็นส่วนใหญ่หลายคนเริ่มเข้าใจผิดแล้วกับเจ้าตัวกฎหมาย PDPA ถึงกาารคุ้มครอง และแบบไหนถึงเรียกว่า เป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล ดังนั้นทีมข่าวไทยนิวส์จึงอยากจะอธิบายให้เข้าใจแบบชัดๆ ถึงตัวกฎหมายว่า แบบไหนถึงจะเรียกว่า ผิดกฎหมาย PDPA
- อันดับแรกเลยคือ การถ่ายรูป หรือ ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ในกรณีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยติดบุคคลอื่นโดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปไม่เจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย สามารถทำได้ หากเป็นการใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว
- ถ้านำคลิปหรือรูปถ่ายที่ติดคนอื่นไปโพสต์ในโซเชียลมีเดียโดยบุคคลอื่นไม่ยินยอมจะผิด PDPA
ในกรณีนี้ สามารถโพสต์ได้ หากใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
- ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือนผิด PDPA
ในกรณีนี้ การติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน หากเพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน
- เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้
ในกรณีนี้อธิบายได้ว่า ไม่จำเป็น ต้องขอความยินยอม หากการใช้ข้อมูลดังกล่าว
(1) เป็นการทำตามสัญญา
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
นอกจากนี้ หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆไป ซึ่ง PDPA = พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล มาตรา 4(1) การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บข้อมูลเพื่อประโยชน์ส่วนตน หรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัวของบุคคลนั้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับ PDPA ย่อมาจาก คำว่า Personal Data Protection Act B.E. 2562 (2019) คือ กฎหมายว่า ด้วยการให้สิทธิเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล การสร้างมาตรฐานรักษาข้อมูลส่วนบุคคลให้ปลอดภัย นำไปใช้ถูกวัตถุประสงค์ตามคำยินยอมที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลอนุญาต
ข้อมูลจาก PDPC Thailand