- 07 ก.ค. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาโพสต์ระบุ "บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ จริงหรือ ?"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาระบุในรายการ รายการ #ชัวร์แน่หรือแชร์มั่ว EP. 22 "บั้งไฟพญานาค เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ จริงหรือ ? " ว่า
ในช่วงวันออกพรรษาของแต่ละปี จะมีการเชิญชวนให้ไปดูปรากฏการณ์ "บั้งไฟพญานาค" ที่บริเวณริมแม่น้ำโขง โดยมีลักษณะเป็นลูกกลมเรืองแสง อ้างกันว่าเห็นลอยขึ้นจากน้ำ มีสีแดงอมชมพู ไม่มีควัน ไม่มีเขม่า ไม่มีเปลว ไม่มีเสียง ไม่มีกลิ่น พุ่งสูงขึ้นไปประมาณระดับ 50–150 เมตร เป็นเวลาประมาณ 5–10 วินาที แล้วจะดับหายวับไปในอากาศ ทั้งที่ดวงไฟยังโตอยู่ และไม่มีลักษณะโค้งตกลงมา มีรายงานหลายร้อยลูกต่อคืน
มีความเชื่อของคนในท้องถิ่น บอกว่า เกิดจากพญานาคที่อาศัยอยู่ในเมืองบาดาล เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จขึ้นไปโปรดพระมารดาที่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และเสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 พญานาคจึงทำให้เกิดบั้งไฟพญานาคเพื่อรับเสด็จ พระพุทธเจ้า
แต่ก็มีการตั้งข้อสันนิษฐานกันว่า บั้งไฟพญานาคนั้นเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดจากก๊าซมีเทน ที่มาจากแบคทีเรียใต้น้ำย่อยสลายสารอินทรีย์ จนมีก๊าซมีเทนจากการหมัก แล้วเกิดความดันก๊าชในผิวทรายใต้น้ำ ก่อนจะพุ่งขึ้นสู่ผิวน้ำ ไปกระทบกับออกซิเจน รวมกับอุณหภูมิที่ลดต่ำลงยามกลางคืน ทำให้เกิดการสันดาปอย่างรวดเร็วจนติดไฟได้
แต่ในความเป็นจริงทางวิทยาศาสตร์แล้ว แม่น้ำโขงที่มีพื้นท้องน้ำเป็นหินและมีน้ำไหลผ่านตลอดเวลา จึงไม่สามารถจะสะสมก๊าซมีเทนจากการย่อยสลายสารอินทรีย์ของแบคทีเรียได้ และที่สำคัญ คือ ไม่มีก๊าซชนิดใดในโลก ที่สันดาปเอง แล้วจะพุ่งขึ้นฟ้า กลายเป็นลูกไฟลอยสูงขึ้นไปสูง ๆ ได้ มีแต่จะต้องสลายกระจายออกโดยรอบอยู่รวดเร็ว
สิ่งที่พอจะเป็นไปได้มากกว่า คือ มีการสันดาปด้วยเชื้อเพลิงขับ เช่น ใช้กระสุนส่องแสง ยิงขึ้นจากฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำ แต่ความมืดในเวลากลางคืนได้หลอกสายตาของผู้ชม ทำให้เหมือนกับลูกไฟพุ่งขึ้นจากน้ำ และที่ผ่านมายังไม่มีภาพถ่ายวิดีโอใดๆ เลยที่ชี้ให้เห็นว่าลูกไฟขึ้นจากน้ำได้จริง โดยมักเป็นภาพลูกไฟที่ลอยขึ้นไปในอากาศแล้ว
ตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา ได้มีกลุ่มช่างภาพไปทดลองถ่ายภาพบั้งไฟพญานาค ที่เชื่อกันว่าพุ่งขึ้นจากน้ำ ด้วยการบันทึกภาพแบบเปิดหน้ากล้อง 5–30 วินาที ให้ภาพลูกไฟดูเป็นภาพต่อเนื่อง เหมือนแสงเลเซอร์ ซึ่งพบว่าจริงๆ แล้ว ลูกไฟนั้นมีจุดเริ่มอยู่บนบกของฝั่งลาว ที่ห่างจากไทยประมาณ 1 กิโลเมตร
สอดคล้องกับที่เคยมีสารคดีของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี ในปี พ.ศ. 2545 ที่แสดงทหารลาวยิงกระสุนส่องวิถีขึ้นฟ้า และมีเสียงเฮที่ดังมาจากฝั่งไทยที่มารอชมบั้งไฟพญานาค แต่สกู๊ปดังกล่าวนั้น ถูกต่อต้านจากคนในพื้นที่
ดังนั้น โดยสรุปแล้ว บั้งไฟพญานาค ไม่น่าใช่ปรากฏการณ์ธรรมชาติเนื่องจากผิดหลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ที่สนใจพิสูจน์สามารถทดลองได้ด้วยตนเอง ด้วยการไปตั้งกล้องถ่ายภาพแบบเปิดหน้ากล้องนานๆ เพื่อให้เห็นจุดกำเนิดของลูกไฟ ว่าขึ้นจากน้ำอย่างที่อ้างกันหรือเปล่า