- 08 ก.ค. 2565
วิจารณ์สนั่น สายรัดประหยัดน้ำมัน หลายเพจดังงัดข้อมูลจับโป๊ะ ไฮโซดังออกนวัตกรรมลวงโลก พบดารารุ่นเก่าร่วมโปรโมท
เพจดังงัดข้อมูลจับโป๊ะ ไฮโซดังออกนวัตกรรมลวงโลก พบดารารุ่นเก่าร่วมโปรโมท กำลังเป็นประเด็นที่โลกออนไลน์กำลังวิพากษ์วิจารย์กันอย่างมากในขณะนี้ เนื่องด้วยมีเฟซบุ๊กหลายๆ เพจได้ออกมาพูดถึง นวัตกรรมใหม่ที่ระบุว่า ช่วยลดการใช้น้ำมันได้ ทำให้ประหยัดค่าน้ำมันไปได้เยอะ คือ "สายพลังงานประหยัดน้ำมัน" ซึ่งพบว่าผู้จำหน่ายเป็นไฮโซหญิงรายหนึ่ง เธอได้โพสต์ลงทั้งเพจของสินค้าและเฟซบุ๊กส่วนตัว มีการนำไปมอบให้กับดาราอาวุโส เพื่อให้ร่วมโปรโมทด้วย
พร้อมกันนี้ยังรวมไปถึงอู่รถยนต์และบริษัทต่างๆ เพื่อถ่ายภาพไปโปรโมทสินค้าเช่นกัน ซึ่ง สายพลังงานประหยัดน้ำมัน ที่ว่ามีการระบุคุณสมบัติของสินค้าไว้ว่า "ไม่ต้องกลัวราคาน้ำมันแพงนะคะ แค่มีสายรัดประหยัดพลังงานที่สายส่งน้ำมันไปหัวฉีด สายประหยัดพลังงานจะแยกโมเลกุลน้ำมันให้เล็กลง ทำให้การใช้น้ำมันลดลง 20 - 30%"
ตามข้อมูลระบุว่า ส่วนประกอบของสายรัดประหยัดพลังงาน ดังกล่าวประกอบไปด้วย
- แร่แกรฟีน
- พลังงานควอนตัม
- แร่หินลาวา
- พลังงานแม่เหล็ก รังสีแกมมาเรย์
- ยางซิลิโคนชนิดพิเศษ ทนความร้อนสูง
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.ประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทน และอนุรักษ์พลังงาน ประชุมหารือนวัตกรรมพลังงานทดแทนด้านน้ำมัน โดยได้เสนอผลิตภัณฑ์สายประหยัดพลังงานเข้าสู่วาระที่ประชุมแล้ว และได้นำไปทดสอบเพื่อพิสูจน์การประหยัดและนำมาใช้ในอนาคตต่อไป
ด้าน ทวิตเตอร์ กระโหลกแดง โพสต์ว่า นวัตกรรมลวงโลก ครั้งนี้ไฮโซลงมาเล่นเองเลย มีดารานักร้องรุ่นเก่ามาช่วยโฆษณาด้วย ส่วนบรรดานักวิทย์คนดังในโซเชียลต่างไม่กล้าเอามาวิจารณ์เพราะกลัวโดนฟ้อง เดี๋ยวนี้ถึงขั้นขายสินค้าลวงโลกเลยเหรอ สินค้าที่บอกว่าเป็นสายประหยัดพลังงาน ความจริงเป็นแค่ไส้ไก่พันสายไฟ แต่ถูกยกให้เป็นสายพลังงานควอนตัม ขายในราคาเส้นละ 3,800 บาท ถือว่าเป็นหญ้าที่ราคาแพงมาก
ขณะเดียวกัน ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ หรือ อาจารย์เจษฎ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ถึงเรื่องดังกล่าว เตือนระวังอย่าหลงเชื่อโฆษณาหลอกขาย อุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน ซึ่งมักเป็นอุปกรณ์แอบอ้าง หลอกลวง หรือโฆษณาเกินจริงด้วยการใช้คำพูดเชิง pseudo science หรือ วิทยาศาสตร์ลวงโลก ทำให้ดูน่าเชื่อถือ แล้วตามด้วยการอ้าง "ผู้ใช้" บอกต่อกันว่าประหยัดจริงๆ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเป็นอุปทานไปกันเองหรือไม่ เพราะไม่ได้ใช้เครื่องมือวัดที่ถูกต้อง หรืออาจเป็นหน้าม้าร่วมรีวิวด้วย
โดยเจ้า สายพลังงานประหยัดน้ำมัน โดนจับโป๊ะอย่างหนัก ซึ่งสามารถสรุปได้เป็นข้อๆ ที่เห็นได้ชัดๆ ดังนี้
1. สินค้าลักษณะนี้เคยขายในปี 2558 ต้องเอาไปพันกับท่อในเครื่องยนต์ อ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ เป็นตัวอย่างที่ดีในการอธิบายถึงการหลอกขายได้ เช่น
- อ้างเรื่องพลังงานที่ไม่มีอยู่จริง คือ พลังงานสเกล่าร์ ซึ่งอ้างว่าเป็นพลังงานธรรมชาติจากหินลาวาภูเขาไฟ ทำให้ร่างกายสมดุล มาผลิตเป็นเครื่องประดับ ถ้าใครจำได้ มันคือเรื่อง "เหรียญควอนตัม" หลอกลวงนั่นแหละ
- อ้างเรื่องที่มีอยู่จริง คือ แม่เหล็ก แต่เอาไปกล่าวมั่วๆ ว่าเป็นพลังงานที่เอาไปใช้เสริมสร้างร่างกาย รักษาโรค ทำให้สมดุลร่างกายดีขึ้น ซึ่งไม่จริง ดังนั้น เมื่อเอามาใช้กับเครื่องยนต์ จะทำให้เครื่องยนต์เกิดสมดุลขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่รู้ว่าเชื่อมโยงกันยังไง สมดุลในร่างกายคน กับสมดุลในเครื่องยนต์รถ
- การอ้างมั่วๆ คือ ฟาร์ อินฟาเรด เป็นช่วงคลื่นของแสงที่อยู่เหนือช่วงอินฟาเรด แสงที่ตามองไม่เห็นและทำให้เกิดความร้อน คนเอามาอ้างกันเกินจริงว่ามีผลดีต่อสุขภาพ แล้วเชื่อมโยงกับน้ำมันรถยนต์ อ้างว่าทำให้เผาไหม้สมบูรณ์ขึ้น
- ส่วนผู้ใช้ อ้างว่าใช้แล้วประหยัดน้ำมันขึ้น ซึ่งเราไม่มีทางรู้ว่าเป็นเรื่องจริง หรือเป็นการหลอกโดยหน้าม้า
2. ข่าวตั้งแต่ปี 2552 ปตท. ออกโรงเตือนผู้บริโภคระวังโดนแหกตา อุปกรณ์เสริมและสารเคมีที่ช่วยประหยัดน้ำมัน ไม่สามารถช่วยประหยัดน้ำมันได้จริง เพียงแค่อ้างสรรพคุณให้หลงเชื่อเท่านั้น
3. ดร.ธานินทร์ อุทวนิช ผู้จัดการฝ่ายวิจัยวิศวกรรมและเครื่องยนต์ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจ ภาวะราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีผู้ประกอบการหลายรายเสนอขายผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการใช้น้ำมัน โดยอ้างคุณสมบัติช่วยประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงได้หลาย 10 % และเมื่อราคาน้ำมันลดลงมาอยู่ในภาวะปกติ สินค้าเหล่านี้จะค่อยๆ ลดกิจกรรมด้านการตลาดลง สินค้าที่อ้างว่าช่วยประหยัดน้ำมันได้ มีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ดังนี้
- กลุ่มแรก ได้แก่ อุปกรณ์เสริมติดตั้งในรถยนต์ เช่น แม่เหล็กแรงสูง นำไปรัดติดกับท่อน้ำมันก่อนเข้าสู่เครื่องยนต์, ท่อเพิ่มพลังงาน ติดตั้งโดยการตัดท่อเข้ากับท่อส่งน้ำมัน เป็นต้น
- กลุ่มที่สอง ประเภทสารเคมี "หัวเชื้อ" สำหรับเติมลงในน้ำมันเชื้อเพลิงหรือน้ำมันหล่อลื่น
4. การทดสอบประหยัดน้ำมัน เป็นวิธีการของผู้จำหน่ายเอง ไม่ใช่วิธีการที่เป็นมาตรฐานสากลที่อุตสาหกรรมยานยนต์ยอมรับ การทดสอบในประเทศไทยจะใช้ มอก.1870-2542 เทียบเท่ากับมาตรฐาน ยูโร 2 และ มอก.2160-2546 เทียบเท่ามาตรฐาน ยูโร 3 ที่ผ่านมา มีผู้นำสินค้าเหล่านี้มาว่าจ้างให้ทางสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ทดสอบ แต่ไม่เคยมีรายใดประหยัดน้ำมันได้อย่างมีนัยสำคัญ
5. บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และผู้จำหน่ายปิโตรเลียมทั่วโลก ใช้นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และงบประมาณจำนวนมาก เพื่อศึกษาวิจัยให้ได้ยานยนต์ที่ประหยัดเชื้อเพลิงและปล่อยมลพิษน้อยที่สุด หากมีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ช่วยประหยัดน้ำมันได้จริง คงต้องถูกนำมาผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์แล้ว
6. ในอดีตนานแล้วประมาณ ปี พ.ศ. 2547 ก็เคยมีกรณีของสินค้าที่แอบอ้างว่าประหยัดน้ำมันได้ ชื่อว่า E-Plus เคยเป็นข่าวใหญ่เพราะดันผ่านการรับรอง แนะนำ โดยหน่วยงานของรัฐอย่างสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) แต่มาถูกเปิดว่าไม่ได้ประหยัดน้ำมันจริง
อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบทั้งเรื่องการเพิ่มกำลัง และลดอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง จากการติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดน้ำมัน หรือ อี-พลัส ฟันธงได้ว่าเป็นการโกหกระดับชาติเลยทีเดียว นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในเวลานั้น จึงสั่งให้ระงับการผลิตและยุติการขาย ส่วนผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ
ข้อมูลจาก อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline