- 18 ก.ย. 2565
ล้วงลึกความรุนแรง โควิดโอไมครอนเจน3 ที่เพิ่งพบในประเทศไทย แนะประชาชนควรจับตาเฝ้าระวังการกลายพันธุ์ของโรคตลอดเวลา
ล้วงลึกความรุนแรง โควิดโอไมครอนเจน3 ที่เพิ่งพบในประเทศไทย สืบเนื่องจากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานจาก ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า "ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ เฝ้าติดตามโควิด-19 'เจเนอเรชัน 3' โอไมครอนBA.2.75.2 พบแล้วในไทย 1 ราย เตรียมพร้อมการตรวจกรองรับมือการแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโอไมครอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต"
โดยทาง ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ รพ.รามาธิบดี ได้อธิบายเพิ่มเติมว่า โอไมครอนเจน3 หรือ BA.2.75.2 เผยแพร่เร็ว 248% ซึ่งตามข้อมูลพบว่า โอไมครอน BA.2.75 กลายพันธุ์จาก BA.2 ถือเป็นเจเนอเรชัน 2 โดยกลายพันธุ์ต่างจากไวรัสดั้งเดิม หรืออู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่ง ส่วนโอไมครอน BA.2.75.2 กลายพันธุ์จาก BA.2.75 ถือเป็นเจเนอเรชัน 3 กลายพันธุ์ต่างจากไวรัสอู่ฮั่น 95-100 ตำแหน่งเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับ BA.2.75 ที่ระบาดในอินเดียที่พบการระบาดครั้งแรกในอินเดีย และแพร่ไปยังประเทศชิลี อังกฤษ สิงคโปร์ สเปน เยอรมนี และไทย ส่วนโอไมครอน BA.2.75.2 มีความได้เปรียบในการเติบโตและ แพร่ระบาดถึง 90% เมื่อเทียบกับ BA.5 และเทียบกับ BA.4 ที่ระบาดทั่วโลก
นอกจากนี้ จากการสืบค้น ฐานข้อมูลรหัสพันธุกรรมโควิดโลก หรือ GISAID พบโอไมครอน BA.2.75.2 จากไทยที่โหลดขึ้นมาบน GISAID รายเดียว ยังไม่สามารถคำนวณความได้เปรียบในการเติบโตและการแพร่ระบาด เปรียบเทียบกับโอมิครอน BA.4 และ BA.5 ที่ระบาดในไทยได้ เพราะจำนวนตัวอย่าง BA.2.75.2 ในประเทศยังไม่มากพอ
ขณะเดียวกัน นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ หรือ หมอเฉลิมชัย รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ได้ให้ข้อมูลในเว็บบล็อคส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" ระบุว่า หลังไทยพบผู้ติดเชื้อโอไมครอน BA.2.75.2 ว่า ยังไม่ทราบความรุนแรงในการก่อโรค
ซึ่งถ้านับตั้งแต่ประเทศไทยพบไวรัสสายพันธุ์หลักโอไมครอนเป็นรายแรก เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 64 ไวรัสโอไมครอนซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดเร็วกว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตา จึงใช้เวลาเพียง 3 สัปดาห์ ก็ขึ้นมาเป็นสายพันธุ์หลักในประเทศแซงเดลตาสำเร็จ ที่ 66.5% และใช้เวลาประมาณ 2 เดือน
กล่าวคือ กลางเดือน ก.พ. 65 ก็พบไวรัสโอไมครอนในผู้ติดเชื้อเกือบทั้งหมดคือ 97.85% เราพบลักษณะของไวรัสโอไมครอนว่า มีการกลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ย่อย (Sub-variant) ได้รวดเร็วและหลากหลายมาก ซึ่งชนิดสายพันธุ์ย่อยสำคัญที่พบในประเทศไทยในช่วงแรก จะเป็น BA.1 แล้วเปลี่ยนเป็น BA.2 ในขณะนี้เป็น BA.5 ตามลำดับ
ดังนั้นต้องถือว่า ณ ปัจจุบันในกลางเดือน ก.ย. 2565 BA.5 เป็นสายพันธุ์ย่อยที่พบมากถึง 85% และ BA.4 พบรองลงมาที่ 13% เนื่องด้วยโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลานี่เอง จึงทำให้ข้อมูลที่ทันสมัยหรืออัพเดตของชนิดไวรัสที่เกิดขึ้นในโลกและในประเทศไทย จึงมีความสำคัญมากสำหรับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประเทศไทยเราเองก็สมควรติดตามเรื่องไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ อย่างใกล้ชิด ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบของไทยก็ได้ทำเรื่องนี้อยู่ในระดับที่ดีทีเดียว
พร้อมกันนี้ ข้อมูลทางวิชาการมีการเปรียบเทียบว่ามีความสามารถในการแพร่ (RGA : Relative Growth Advantage) เร็วกว่า BA.5 ราว 90% และ BA.4 ราว 148% โดยตำแหน่งหลักที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงคือ 346, 486 และ 1199 ทว่ายังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่าไวรัสสายพันธุ์ย่อยดังกล่าวนี้ จะก่อให้เกิดความรุนแรง ทำให้ป่วยหนักและเสียชีวิตมากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงยังไม่จำเป็นจะต้องวิตกกังวลเรื่องนี้มากนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท
ตามรายงานของผู้ป่วยโควิดในไทยพบว่า ส่วนใหญ่มีอาการไม่หนัก และหายจนได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว ซึ่งสายพันธุ์ที่พบมากสุดยังเป็น BA.4 และ BA.5 โดยภาพรวม 93% เป็น BA.4 /BA.5 ส่วน 5.6% เป็น BA.2 และ 1.4 % เป็น BA.2.75
อย่างไรก็ตาม มีรายงานเพิ่มเติมถึงข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และที่เป็นสายพันธุ์ย่อยอีกด้วยว่า ข้อมูลการเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75 และลูกหลานที่เป็นสายพันธุ์ย่อย โดยข้อมูลใน GISAID ที่ระบุว่าพบ BA.2.75 จำนวน 9 รายในประเทศไทยนั้น ก็เป็นข้อมูลที่กรมรายงานเข้าไป โดยมีจำนวน 9 ราย เป็น BA.2.75 จำนวน 6 ราย BA.2.75.1 จำนวน 1 ราย BA.2.75.2 จำนวน 1 ราย และ BA.2.75.3 จำนวน 1 ราย ทั้งหมดไม่ได้มีปัญหาอะไร ไม่มีอาการอะไรมาก ส่วนใหญ่หายและออกจากโรงพยาบาลแล้ว
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline