- 18 ต.ค. 2565
ไทยพบแล้ว 2 ราย ติดเชื้อโควิด XBB จากฮ่องกง สิงคโปร์ ชี้แพร่เร็วระดับ 6 หลบภูมิสูงสุด แต่อาการไม่รุนแรง เร่งสอบสวนโรคหากลุ่มเสี่ยง
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 ต.ค. 2565 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงผลการติดตามเฝ้าระวังการระบาดเชื้อโควิด-19 ในประเทศเทศรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาวันที่ 8-14 ต.ค. 2565 มีการตรวจสายพันธุ์ 128 ตัวอย่าง เป็นสายพันธุ์โอมิครอนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็น BA.4/BA.5 จำนวน 126 ราย และ BA.2 จำนวน 2 ราย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) ติดตามสถานการณ์ และยังไม่พบสายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวลเพิ่มเติม ยังเป็นโอมิครอน แต่แตกลูกหลาน จึงต้องติดตามข้อมูลใกล้ชิด ซึ่งองค์การอนามัยโลกประกาศเตือนให้ทั่วโลกเฝ้าติดตามสายพันธุ์ต่างๆ ที่แตกย่อยมาจากโอมิครอน เช่น BA.5 ก็มีลูกหลานหลายตัว ซึ่งต้องติดตามต่อไป เช่นเดียวกับ พวกที่มาจาก BA.2.75 ก็ยังต้องติดตาม รวมทั้ง BJ.1 และ BA.4.6 นอกจากนี้ ยังมีสายพันธุ์ XBB คำว่า X คือ ลูกผสม (Recombinant) และสายพันธุ์ BA.2.3.20
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับโอมิครอนมีการกลายพันธุ์จำนวนมาก และหลายตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งที่อยู่ตรงสไปร์ทโปรตีน อย่างไรก็ตาม หากพบกลายพันธุ์มากกว่า 6 ตำแหน่งขึ้นไป เมื่อเทียบกับของเดิมอาจเร็วกว่าเป็น 100% เศษๆ หรือหากมากกว่า 7 ตำแหน่งขึ้นไปก็จะไปเร็วกว่า 200% เมื่อเทียบกับของเดิมได้ อย่างไรก็ตาม จากการเฝ้าระวังสถานการณ์การกลายพันธุ์ของประเทศไทยนั้น กรณี BA.2.75 จากฐานข้อมูล Gisaid มีรายงานรวม 19 ราย ส่วนอีก 11 ราย เป็นตระกูลลูกหลาน BA.2.75.1 BA.2.75.2 BA.2.75.3 และ BA.2.75.5 รวมแล้วประมาณ 30 ราย
ส่วนโอไมครอนสายพันธุ์ย่อย XBB เป็นสายพันธุ์ผสมระหว่างสายพันธุ์ BJ.1 (BA.2.10.1.1) และ BM.1.1.1 (B.2.75.3.1.1.1) โดยมีบรรพบุรุษร่วมกันคือ BA.2 ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังในประเทศไทย พบผู้ป่วยติดเชื้อสายพันธุ์ XBB แล้วจำนวน 2 ราย รายแรกเป็นหญิงต่างชาติอายุ 60 ปี เดินทางมาจากฮ่องกง และมาตรวจในรพ.เอกชนแห่งหนึ่ง อาการไม่มาก มีไอ ขณะป่วยอาศัยโรงแรมแห่งหนึ่ง ส่วนรายที่ 2 เป็นคนไทยอายุ 49 ปี เดินทางมาจากสิงคโปร์ ไปโรงพยาบาลเดียวกัน มีอาการไอ คัดจมูก ไม่ได้ไปไหน อยู่ในไทย มาตรวจจึงทำให้พบเชื้อ อาการไม่มากและหายเป็นปกติแล้ว
ทั้งนี้ นพ.ศุภกิจ ยังระบุอีกว่า ถึงจะมีพันธุ์ใหม่ อย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังไม่มีหลักฐานว่าป่วยหนัก อย่างสิงคโปร์ที่พบเชื้อนี้จำนวนมากก็ยืนยันว่า จำนวนคนไข้หนักที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามสัดส่วนเชื้อที่เพิ่มขึ้น หมายความว่าตัวเชื้อไม่ได้รุนแรง แต่ที่มากเพราะคนติดเชื้อมากขึ้น
ส่วนสายพันธุ์ BF.7 เป็นสายพันธุ์ลูกหลานของ BA.5.2.1 มีความสามารถในการแพร่ระบาดน้อยกว่า XBB และ BQ.1.1 พบในจีน และแพร่ไปยังเบลเยียม เยอรมนี ฝรั่งเศส เดนมาร์ก และอังกฤษ รวมถึงพบในไทย 2 ราย เป็นชายต่างชาติอายุ 16 ปี อาศัยอยู่ในไทย อยู่ที่กรุงเทพฯ โดยเราได้ส่งข้อมูลไป Gisaid ตั้งแต่ ก.ย. แต่ตอนนั้นเป็นสายพันธุ์กลุ่มของ BA.5 จนมีการแตกสายพันธุ์ออกมาก ส่วนอีกรายเป็นหญิงไทย อายุ 62 ปี บุคลากรทางการแพทย์ พบที่กรุงเทพฯ มีการรายงานข้อมูลช่วงเดือนก.ย.2565 โดยทั้งคู่ไม่ได้มีอาการรุนแรง ซึ่งทั่วโลกเจอเชื้อนี้ประมาณ 13,000 คน โดยพวกนี้เป็นเชื้อในตระกูลโอมิครอน คือ แพร่เร็วแต่ไม่รุนแรง
นอกจากนี้ ไทยยังเจอสายพันธุ์ BN.1 หรือ BA.2.75.5.1 จากฐานข้อมูลจีเสดทั่วโลกพบ 437 ราย โดยไทยมีรายงาน BN.1 บนจีเสดจำนวน 3 ราย พบเพิ่มเติมในไทย 7 ราย ส่วน BQ.1.1 ยังไม่พบในไทย แต่ที่น่าสนใจคือ ตัวนี้เพิ่มจำนวนค่อนข้างเร็ว ซึ่งอาจเป็นปัญหาในอนาคตได้ โดยทั่วโลกมีรายงานพันกว่าราย สำหรับสถานการณ์ Emerging variant ที่กังวลเรื่องการหลบภูมิคุ้มกัน จะพบว่า มี XBB รองลงมา BQ.1.1 และ BN.1 จึงต้องมีการเฝ้าระวังและติดตามต่อไป
นพ.ศุภกิจ ได้กล่าวย้ำอีกว่า วันนี้ประชาชนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะตระกูลโอมิครอน แม้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นแต่ไม่รุนแรง ซึ่งหากมีอาการก็ขอให้ตรวจหาเชื้อ จะได้ลดการแพร่เชื้อ เพราะหลักการหากลดการแพร่เชื้อ ก็ลดการกลายพันธุ์ได้ ดังนั้น มาตรการที่ใช้อยู่อย่างการสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะการไปอยู่ในที่คนจำนวนมากยังช่วยได้ และการล้างมือบ่อยๆ ก็ช่วยได้เหมือนเดิมอีกเช่นกัน รวมทั้งการฉีด วัคซีนเข็มกระตุ้น ยังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะกลุ่ม 608 และในกรณีที่ฉีดเข็มสุดท้ายเกิน 4-6 เดือนขอให้มาฉีดกระตุ้น
ขณะที่ทางด้าน นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย โดยรอบในสัปดาห์ระหว่างวันที่ 9 - 15 ต.ค. 2565 มีผู้ติดเชื้อ 2,234 ราย ปอดอักเสบ 371 ราย ใส่ท่อหายใจ 203 ราย และเสียชีวิต 53 ราย ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม 608 และไม่ฉีดวัคซีน จะเห็นได้ว่าสถานการณ์โรคโควิด-19 ในประเทศไทย มีแนวโน้มพบผู้ป่วยรักษาในโรงพยาบาลและผู้ป่วยเสียชีวิตลดลง ซึ่งเป็นไปตามคาดการณ์หลังลดระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ส่วนสถานการณ์ทั่วโลกแนวโน้มพบผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเสียชีวิต ลดลงต่อเนื่องเช่นเดียวกัน ขณะที่ประเทศแถบยุโรปและสิงคโปร์ เริ่มมีสัญญาณพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หลายประเทศบริหารจัดการโรคโควิด-19 แบบการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคติดต่อทางเดินหายใจอื่น
ทั้งนี้ ยังจำเป็นต้องมีการยกระดับมาตรการเฝ้าระวังโรคในสถานพยาบาล และสถานที่เสี่ยง เพื่อตรวจจับการระบาด รวมทั้งการตรวจหาสายพันธุ์กลายพันธุ์ด้วย นอกจากนี้การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นในกลุ่ม 608 และเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป เพื่อลดความรุนแรงของโรคในกลุ่มเสี่ยง โดยคงระดับภูมิคุ้มกันต่อโรคสูงต่อเนื่อง
ส่วนทางด้าน ดร.นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงปลายฤดูฝน ต่อด้วยฤดูหนาว อาจทำให้ผู้ป่วยอาการคล้ายไข้หวัดมากขึ้น จึงแนะนำให้ตรวจ ATK เบื้องต้นก่อนพบแพทย์ เพราะช่วงนี้มีไข้หวัดอื่นๆด้วย อย่างไรก็ตามตอนนี้ตรวจ RT-PCR ลดลง แต่ระบบเฝ้าระวังสายพันธุ์ไม่ได้ลดความเข้มข้นลง จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลส่งตัวอย่างเชื้อ กลุ่มอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ผู้ที่มาจากต่างประเทศแล้วป่วย กลุ่มคลัสเตอร์ กลุ่มที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง กลุ่มที่รับวัคซีนเข็มสุดท้ายยังไม่เกิน 3 เดือน แต่มีอาการป่วยจากโควิด และกลุ่มบุคลากรการแพทย์ มายังศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ 15 แห่งทั่วประเทศ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline