- 03 พ.ย. 2565
หมอธีระ จับตาโควิดโอไมครอน 3 สายพันธุ์ย่อยที่น่ากังวล พบมีการระบาดเพิ่มขึ้น ส่วน BA.5 ยังครองระบาดมากที่สุด
วันที่ 3 พ.ย. 2565 หมอธีระ หรือ รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์โควิด-19 โดยระบุว่า เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 215,345 คน ตายเพิ่ม 551 คน รวมแล้วติดไป 636,191,953 คน เสียชีวิตรวม 6,596,671 คน สำหรับ 5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา และรัสเซีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 91.93 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 80.58
อัพเดตจาก WHO
องค์การอนามัยโลก ออกรายงานประจำสัปดาห์ WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อคืนนี้ 2 พฤศจิกายน 2565
สถานการณ์ระบาดรายสัปดาห์ล่าสุด มีอัตราการติดเชื้อใหม่และการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นชัดเจนทั้งในทวีปอเมริกา และแถบภูมิภาคแปซิฟิคตะวันตก ในขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทวีปแอฟริกานั้นมีอัตราการเสียชีวิตรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น
ส่วนเรื่องสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19 นั้น ปัจจุบัน Omicron ครองสัดส่วนการระบาดทั่วโลกถึง 99.9% ทั้งนี้หากจำแนกตามสายพันธุ์ย่อยของ Omicron ตรวจพบว่าเป็น BA.5 ถึง 74.9%, BA.2 7%, BA.4 4.8%
สำหรับสายพันธุ์ที่น่ากังวลนั้น พบว่า
- BQ.1.x ได้เพิ่มขึ้นจาก 5.7% --> 9%
- BA.2.75 เพิ่มจาก 2.9% --> 3.7%
- XBB เพิ่มจาก 1.0% --> 1.5%
ด้วยข้อมูลต่างๆ ข้างต้น จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ระบาดอย่างใกล้ชิด และระมัดระวังตัว ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ
อัพเดต Long COVID
ล่าสุดมีข้อมูลจากญี่ปุ่น และแอฟริกาใต้ เกี่ยวกับอัตราการเกิดปัญหา Long COVID โดย Jassat W และคณะ จาก National Institute for Communicable Diseases ประเทศแอฟริกาใต้ ได้รายงานผลการศึกษาพบว่า อัตราการเกิดปัญหา Long COVID ในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ช่วงสายพันธุ์ Omicron นั้น มีราว 18.5%
ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่น Ibaraki Prefecture ของญี่ปุ่น ได้รายงานผลการสำรวจประชากรจำนวน 2,441 คนที่ติดเชื้อในช่วงต้นปีที่ผ่านมา และมีการทำการสำรวจในเดือนมิถุนายน 2565 (ราว 3 เดือนหลังจากติดเชื้อ) พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งประสบปัญหาอาการผิดปกติหลังจากหายจากการติดเชื้อ (50.06%)
ทั้งนี้เพศหญิงมีสัดส่วนของผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID มากกว่าเพศชาย และกลุ่มคนวัยทำงานอายุ 30-40 ปี ประสบปัญหามากกว่ากลุ่มคนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี มีเพียงหนึ่งในสี่ของผู้ที่ประสบปัญหา Long COVID ที่ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยมาจากหลายเหตุผล รวมถึงการไม่รู้ว่าจะต้องไปรับการรักษาที่ไหนอย่างไร ทำให้ทางรัฐบาลท้องถิ่นต้องออกประกาศว่าจะทำการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ และจัดระบบบริการดูแลรักษาและให้คำปรึกษาให้มีความพร้อมที่จะรองรับผู้ป่วย Long COVID ให้มากขึ้น
สำหรับประชาชนไทยเรา ควรตระหนักว่าการระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่ข้อมูลสถานการณ์ในประเทศนั้นได้รับรู้กันน้อยลง จำเป็นต้องป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ การไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นถือเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อลดป่วยรุนแรงและเสียชีวิต และลดความเสี่ยงของ Long COVID การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline