- 27 ธ.ค. 2565
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ระบุ เกี่ยวกับการตรวจมะเร็งด้วยตัวเอง ด้วยการเกาแขน
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ระบุว่า
"อยากคัดกรอง มะเร็ง ให้ไปพบแพทย์ตรวจครับ ไม่ใช่เกาแขน"
เฮ้ออ เอาอีกแล้ว มีคอนเท้นต์ประหลาดๆ มั่วๆ ในติ๊กต๊อกเยอะจริงๆ ครับ .. ล่าสุด คนส่งมาฟ้องว่า มีคนอ้างตนเป็นอาจารย์ สอนการตรวจตนเองว่า เป็นมะเร็ง หรือเปล่า แบบง่าย ๆ ด้วยการ "เอาน้ำมันพืชมาทาแขน แล้วเอาเล็บขูดๆๆ เกาๆ ถ้ายังแค่ผื่นแดงๆ เหมือนเกาปรกติ แสดงว่าไม่เป็นมะเร็ง แต่ถ้าเป็นสีน้ำตาลเข็ม ก็แสดงว่ามีเซลล์มะเร็งในตัว" !?
ไม่จริงนะครับ ! ไม่รู้ไปเอามาจากไหน (สงสัยเค้าไปเอาไอเดียจากพวก "กัวซา" ทางแพทย์แผนจีน มาผสมกับเรื่องมะเร็งเอง) ... ถ้าตรวจตัวเองได้ง่ายๆ แบบนี้ พวกคุณหมอที่รักษาโรคมะเร็งคงสบายแล้วล่ะ เพราะการตรวจคัดกรองมะเร็งนั้น มันมีวิธีการจำเพาะ ขึ้นอยู่กับว่าเป็นมะเร็งที่อวัยวะไหน ชนิดไหน ระยะไหนแล้ว ... ไม่ใช่แค่มาเกาแขนแบบนี้
ข้อเสียของการเผยแพร่ความเชื่อผิดๆ ทางสุขภาพแบบนี้ (ซึ่งมีแฟนคลับเชื่อเยอะทีเดียว) คือทำให้ตัวเองเข้าใจผิด เกาแขวนแล้วแค่แดง คิดว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง (ทั้งที่อาจจะเป็นมะเร็งอยู่) แล้วเลยไม่ได้ไปทำการรักษาให้ทันท่วงที
ขอยกเอาแนวทางในการตรวจคัดกรองผู้ที่เป็นมะเร็ง จากของโรงพยาบาลจุฬาฯ มาให้ดูกันครับ ว่ามีรายละเอียดเฉพาะ เยอะมาก
#การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้หญิง
โรคที่มักพบได้บ่อยในผู้หญิงก็คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ดังนั้นจึงเน้นไปที่อวัยวะเหล่านี้เป็นหลัก
#เต้านม
โดยทั่วๆไป ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ควรจะต้องเริ่มมีการตรวจเต้านมตัวเองอยู่สม่ำเสมอ แนะนำให้ตรวจหลังการหมดช่วงมีประจำเดือน และให้พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก1-3ปี
อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป แนะนำเริ่มมีการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี และยังต้องมีการตรวจด้วยตัวเองต่อไปอย่างสม่ำเสมอเช่นเดิม
แต่ถ้าเป็นผู้หญิงที่มีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เช่น เคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน เคยตรวจเจอเนื้อเต้านมชนิด LCIS เคยฉายแสงก่อนอายุ 30 ปี บริเวรหน้าอก มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม หรือเป็นมะเร็งทางพันธุกรรมเต้านม รังไข่ อาจต้องเริ่มตรวจแมมโมแกรมที่อายุ 30 พบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายทุก 6-12 เดือน หรือตรวจแมมโมแกรมอาจไม่พอ บางรายอาจต้องตรวจ MRI หรือคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าร่วมด้วย
#ปากมดลูก
อายุ 21-29 ปี ให้ตรวจ Pap test (ตรวจแป๊ป) ทุก 3ปี เป็นการตรวจภายในและตรวจเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูก
อายุ 30-65 ปี ให้ตรวจ Pap test ทุก3ปีได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นอาจต้องมีการตรวจเชื้อ HPV (เอชพีวี) เพิ่มเติม โดยทำทุก 5 ปีถ้าตรวจ Pap test ร่วมกับการตรวจ HPV
#ลำไส้ใหญ่
คนทั่วไป เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี
โดยการตรวจได้หลายแบบได้แก่
* การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
* การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก10 ปี
* การตรวจอุจจาระ โดยอาจร่วมกับส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายปละทวารหนัก ทุก 5 ปี
* การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonography ทุก 5 ปี
#การตรวจคัดกรองมะเร็งในผู้ชาย
มะเร็งที่เจอบ่อยในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ มะเร็งปอด ดังนั้นการตรวจสุขภาพจะเป็นตามแนวทางนี้
#มะเร็งต่อมลูกหมาก
จริงๆการตรวจคัดกรองในโรคนี้ก็ยังมีการถกเถียงกันเพราะมีหลายการศึกษาที่ระบุว่าการคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากนั้น ไม่ได้ช่วยเพิ่มการมีชีวิตอยู่รอด แถมเมื่อตรวจค่าผิดปกติและต้องไปเจาะตรวจชิ้นเนื้อ พบว่าประมาณ 75% พบว่าไม่ได้เป็นมะเร็ง ผู้ป่วยก็จะเจ็บตัวเปล่าๆ
แต่ถ้าอยากตรวจก็สามารถทำได้โดยการตรวจหาค่า PSA และการพบแพทย์เพื่อตรวจขนาดต่อมลูกหมากทางทวาร (rectal examination) โดยมักแนะนำในคนที่มีความเสี่ยงเช่น อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือมีประวัติการเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว
#มะเร็งตับ
เรามักจะตรวจในผู้ป่วยที่โรคตับอักเสบเรื้อรังจากเชื้อไวรัสตับอักเสบBและC ผู้ป่วยที่มีภาวะตับแข็ง โดยการหาเจาะเลือดตรวจการทำงานของตับ (liver function test) ค่าของ AFP และการอัลตราซาวน์ตับ หรือถ้ามีการสงสัยอะไรก็อาจส่งตรวจเพิ่มเติมเช่นการทำMRI
#มะเร็งลำไส้
เริ่มตรวจที่อายุ 50 ปี แต่ถ้ามีภาวะบางอย่างที่อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นมะเร็งลำไส้ ก็จะแนะนำตรวจก่อนอายุ 50 ปี เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งลำไส้ มีให้เลือกตรวจได้หลายแบบ เช่น
-การส่องกล้องตรวจลำไส้ส่วนปลายและทวารหนัก (flexible sigmoidoscopy) ทุก 5 ปี
-การส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (colonoscopy) ทุก10 ปี
-การตรวจอุจจาระ โดยอาจร่วมกับส่องกล้องลำไส้ส่วนปลายปละทวารหนัก ทุก 5 ปี
-การตรวจลำไส้ใหญ่ทางเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ CT colonography ทุก 5 ปี
#มะเร็งปอด
การตรวจคัดกรองมะเร็งปอดนี่ เป็นเรื่องใหม่มากพอสมควร ล่าสุดมีการศึกษาหนึ่งออกมาว่า ช่วยลดอัตราการตายจากมะเร็งปอด 20% (lung cancer mortality rate) แต่ในการศึกษาพุ่งเป้าไปที่คนบางกลุ่ม ดังนั้นกลุ่มดังกล่าวจึงเป็นกลุ่มที่มีประโยชน์จากการตรวจคัดกรองมะเร็ง
การคัดกรองในที่นี้ คือการตรวจโดยใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์แบบปริมาณรังสีต่ำกว่าปกติ เรียกว่า low-dose CT ซึ่งจะมีจำกัดอยู่เฉพาะบางโรงพยาบาลเท่านั้น
กลุ่มคนที่ได้ประโยชน์คือ ต้องมีทั้งสามข้อ
- มีประวัติสูบบุหรี่จัด ในที่นี้คือ ค่า pack-year ให้เอาจำนวนต่อซอง x จำนวนปี ค่าตั้งแต่30ขึ้นไปถือว่าจัด เช่น สูบ1ซองเป็นเวลา30ปี (pack year=30) , สูบ2ซองเป็นเวลา15ปี (pack year=30)
- ยังคงสูบอยู่หรือถ้าเลิกแล้ว ยังคงอยู่ในช่วงไม่เกิน 15 ปีหลังเลิก
- อายุช่วง 55-74 ปี
ความเสี่ยงของการตรวจคัดกรองมีอยู่ว่า
1.ในเอกซเรย์อาจเห็นว่ามีอะไร แต่จริงๆแล้วไม่มี เรียกว่าค่าบวกลวง ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีความกังวล กินไม่ได้ นอนไม่หลับ เครียด ต้องมาตรวจเพิ่มเติมบ่อยๆ เจาะชิ้นเนื้อเพิ่ม
2.อาจเจออะไรที่ผิดปกติบางอย่างจริงๆ แต่จริงๆอาจไม่ต้องรักษา ผู้ป่วยไม่มีอาการอะไร แต่อาจต้องไปผ่าตัดจริง หรือรักษาเพิ่มเติมโดยไม่จำเป็น
3.การตรวจด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์บ่อยๆหลายครั้งมากๆ เป็นเวลานาน ก็ทำให้ร่างกายเราได้รับรังสีด้วยเช่นกัน อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งบางอย่างในอนาคต
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline