- 28 ธ.ค. 2565
พบผู้เสียชีวิตจาก อะมีบากินสมอง รายแรก มีประวัติเดินทางกลับจากไทย เผยวิธีรักษาเบื้องต้นนำเชื้อออกจากร่างกาย
พบผู้เสียชีวิตจาก อะมีบากินสมอง รายแรก มีประวัติเดินทางกลับจากไทย แม้ไม่แพร่ระบาดหนักและรวดเร็วเท่าโควิด แต่ก็อันตรายไม่แพ้กัน สำหรับ อะมีบากินสมอง ที่ตอนนี้ต้องเฝ้าระวังและดูแลตัวเองให้ดี เนื่องจากล่าสุดมีรายงานว่า ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของเกาหลีใต้ หรือ KDCA ยืนยัน พบผู้เสียชีวิตรายนี้เดินทางกลับจากประเทศไทย และติดเชื้ออะมีบาชนิดนีเกลอเรีย (Naegleria fowleri) ที่สามารถทำลายสมองของมนุษย์ได้
ตามรายงานระบุว่า ผู้เสียชีวิตเป็นชายอายุ 50 ปี เดินทางกลับถึงเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 65 หลังจากพำนักอยู่ในไทยเป็นเวลา 4 เดือน เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในวันถัดมา (11 ธ.ค. 65) และเสียชีวิตในวันอังคาร (13 ธ.ค. 65) และชายคนนี้ ถือเป็นผู้ติดเชื้อเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากอะมีบารายแรกของประเทศ นับตั้งแต่มีการพบผู้ติดเชื้อคนแรกของโลก ที่รัฐเวอร์จิเนีย ของสหรัฐอเมริกา เมื่อปี 2480
สำหรับ อะบีมาชนิดนีเกลอเรีย มักพบทั่วไปในแหล่งน้ำจืด เช่น ทะเลสาบ, แม่น้ำ, คลอง, และ บ่อน้ำ ทั่วโลก ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายเชื้อตัวนี้จะวิ่งไปยังสมอง และทำลายเนื้อเยื่อสมอง
พร้อมกันนี้ KDCA ยังยืนยันว่า ความเสี่ยงที่เชื้อตัวนี้จะแพร่ระบาดจากคนสู่คนต่ำมาก แต่แนะนำให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการว่ายน้ำในพื้นที่ที่พบโรคนี้แพร่ระบาด ทั้งนี้ ในปี 2561 มีรายงานผู้ป่วยโรคดังกล่าวอย่างน้อย 381 คนทั่วโลก เช่น สหรัฐ, อินเดีย, และไทย
ด้าน นายเเพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานผู้เดินทางชาวเกาหลีใต้ติดเชื้อเเละเสียชีวิตด้วยอาการสมองอักเสบ จากการติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri หลังกลับจากประเทศไทย โดยโรคสมองอักเสบมักมีอาการ 1-12 วันหลังได้รับเชื้อ (เฉลี่ยประมาณ 5 วัน) โดยเชื้อเข้าทางจมูกและเข้าสมองผ่านเส้นประสาทรับกลิ่น (olfactory nerve) โดยอาการที่พบ ได้แก่ ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน คอแข็ง ความรู้สึกตัวลดลง ชักเกร็ง อาการจะค่อยๆ แย่ลงและเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม
นายเเพทย์ธเรศ ระบุต่อไปว่า โรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri พบได้ทั่วโลก ในช่วง 40 ปี (2526-2564) ประเทศไทยพบเพียง 17 ราย ในจำนวนนั้น 14 คน (ร้อยละ 82) เสียชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 12 ปี (ต่ำที่สุด 8 เดือน มากที่สุด 71 ปี) เป็นสัญชาติไทย 16 ราย เเละสัญชาตินอร์เวย์ที่เดินทางกลับจากไทย 1 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่พบช่วงฤดูร้อน ผู้ป่วยโรคนี้ส่วนใหญ่มีประวัติสำลักน้ำที่ไม่สะอาดจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น สระน้ำ บ่อน้ำ แต่ไม่ติดต่อจากการดื่มน้ำ และไม่ติดต่อจากคนสู่คน
ขณะที่ วิธีการป้องกันติดเชื้ออะมีบา Naegleria fowleri จากการสำลักน้ำ ได้แก่
1.หลีกเลี่ยงการว่ายน้ำหรือดำน้ำในเเหล่งน้ำธรรมชาติที่ไม่สะอาด
2.ระมัดระวังไม่ให้สำลักน้ำเข้าโพรงจมูก ถ้าสำลักให้รีบสั่งน้ำออกแรงๆทางจมูก
3.รีบล้างจมูกด้วยน้ำต้มสุกที่สะอาดหรือน้ำเกลือ
4.ผู้ที่มีประวัติเสี่ยงร่วมกับมีอาการป่วยน่าสงสัย ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีและแจ้งประวัติการสัมผัสน้ำไม่สะอาด การสำลักน้ำ หรือการใช้น้ำในการล้างจมูก เพื่อประโยชน์ต่อการวินิจฉัย
"ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ไม่ควรใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดสาดเล่นกัน และหลีกเลี่ยงการใช้น้ำจากแหล่งน้ำสาธารณะล้างจมูก ส่วนสระว่ายน้ำควรรักษาความสะอาดตามมาตรฐานตามคำแนะนำของกรมอนามัย โดยมีการตรวจวัด และเติมสารคลอรีน ให้มีปริมาณคลอรีนตกค้างอิสระ 1-2 มิลลิกรัมต่อลิตร" นายเเพทย์ธเรศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายเเพทย์ธเรศ กล่าวแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และขอบคุณการเเจ้งข่าวจากสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย ที่ทำให้กรมควบคุมโรคได้ใช้ข้อมูลนี้ในการให้ความรู้เรื่องโรคสมองอักเสบจากเชื้ออะมีบา (Naegleria fowleri) กับประชาชนเพื่อการป้องกันโรค เป็นตัวอย่างความร่วมมือที่ดีของความร่วมมือระหว่างประเทศไทยเเละสาธารณรัฐเกาหลีที่มีมาอย่างยาวนาน เเละเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านสุขภาพของทั้งสองประเทศ
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Thainewsonline