- 03 ม.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไขข้อข้องใจ "ไข่แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?"
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ระบุข้อความดังนี้
"ไข่แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร ?"
มีคำถามหลังไมค์มาว่า "อยากเรียนถามว่า ไข่แฝดเกิดขึ้นได้อย่างไร ไก่ที่ออกไข่แฝด จะแฝดตลอดไปไหมหรือสลับกันไปมา ที่ถามเพราะเห็นบางคลิป พ่อครัวปรุงอาหารด้วยไข่แฝดทุกฟอง มันมีมากได้ขนาดนั้นเลยหรือ หรือเป็นของหายาก" !?
ไข่แฝด (double yolked egg) ก็คือการที่ไข่ 1 ฟอง มีไข่แดงอยู่ข้างใน 2 ใบ (double yolks) ซึ่งแม้ว่าจะดูเป็นเรื่องแปลก แต่ก็ไม่ได้หายากมากมายอะไร และแน่นอนว่า ยังสามารถนำมาบริโภคได้ตามปรกติครับ ถือว่าเป็นเรื่องโชคดีที่เจอด้วยซ้ำนะ
ไข่แฝดเกิดไข่ไก่แฝด (Double Yolked Egg) เกิดจากการที่แม่ไก่มีไข่แดง (yolk) ตกในท่อนำไข่ (oviduct หรือ fallopian tube) พร้อมกัน 2 ใบ โดยทั่วไปแล้ว ไข่แดง 1 ใบจะตกออกมาเป็นระยะๆ ทุกหนึ่งชั่วโมง แต่ด้วยระดับการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการทำงานมากเกินไปของรังไข่ ก็สามารถทำให้ไข่แดงตกออกมาพร้อมกัน 2 ใบได้ ผนังของท่อนำไข่สร้างไข่ขาวออกมาหุ้มไข่แดงทั้งสองไว้ในฟองไข่เดียวกัน และผ่านกระบวนการสร้างเปลือกไข่ตามปรกติ ขึ้นมาหุ้มเป็นฟองเดียวกัน และโดยเฉลี่ยแล้ว ถ้าไม่ได้มีปัจจัยรบกวนใดๆ เพิ่มเติม โอกาสที่จะพบไข่แฝดนั้น จะอยู่ประมาณ 1 ในพันฟอง
ไข่แฝดจึงมักจะเกิดจากแม่ไก่ที่ค่อนข้างสาว และระบบการสืบพันธุ์ยังไม่สมบูรณ์เต็มที่ จึงมีการตกไข่แดงออกมาพร้อมกันสองใบเป็นครั้งคราว บางครั้งไข่แฝดก็ยังพบได้จากแม่ไก่ที่อายุค่อนข้างมาก ใกล้จะหมดระยะสร้างไข่แล้ว รวมไปถึงแม่ไก่ที่พบกับสภาพของแสงในเล้าเลี้ยง ที่เปลี่ยนแปลงจำนวนชั่วโมงในแต่ละวันอย่างรวดเร็วผิดปรกติ ก็มีแนวโน้มจะออกไข่แฝดมากขึ้น นอกจากนี้ ก็มีแม่ไก่บางสายพันธุ์ เช่น พันธุ์ Buff Orpington ที่พบว่าจะให้ไข่แฝดได้มากกว่าพันธุ์อื่นๆ
เมื่อก่อนเราอาจจะไม่ค่อยได้พบเห็นไข่แฝดวางจำหน่ายนัก แต่ปัจจุบันเริ่มมีมากขึ้น ที่ฟาร์มไข่ไก่จะคัดไข่แฝดมาบรรจุกล่องขายเป็นโหลได้โดยเฉพาะ และนอกจากไข่แฝดที่มีไข่แดง 2 ใบในไข่หนึ่งฟองแล้ว ยังสามารถที่จะมีไข่แดงมากกว่านั้นได้ (เคยมีพบถึง 9 ใบ) หรือแบบที่ไม่มีไข่แดงอยู่ในไข่ไก่เลย ก็เป็นไปได้ (ซึ่งมักเกิดจากแม่ไก่ที่อายุน้อยมาก และพึ่งให้ไข่ล็อตแรกๆ )
การเกิดไข่แฝดขึ้น เป็นหนึ่งในลักษณะที่แปลกออกไปจากปรกติของไข่ ซึ่งยังมีอีกหลายแบบ และบ่อยครั้งที่เกิดจากสุขภาพ สภาพการเลี้ยงดู และอาหารของแม่ไก่ ตัวอย่างเช่น การพบจุดเลือด (blood spot) ในไข่แดง ก็ไม่ใช่เรื่องผิดหรืออันตรายอะไร สามารถนำมาบริโภคได้ครับ
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ thainewsonline