- 13 เม.ย. 2566
ออกแล้ว ผลตรวจน้ำบาดาลโซดา หลังลองดื่มแล้วพบว่า รสชาติซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น ภาวนาขอให้เป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก
ออกแล้ว ผลตรวจน้ำบาดาลโซดา จ.สุโขทัย ที่มีรสชาติซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น : จากที่ก่อนหน้านี้มีรายงานว่าในสวนหลังบ้านเลขที่ 146 หมู่ 7 ต.นาเชิงคีรี อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย มีการขุดเจาะบ่อบาดาลแล้วพบว่าเจอน้ำมีรสชาติคล้ายโซดา ซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่น สามารถดื่มกินได้ ชาวบ้านสงสัยว่าอาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก เหมือนกับที่พบในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี เมื่อปี 2564 จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าไปพิสูจน์ตรวจสอบ
โดยพันโท คะเนตร รักวุ่น อายุ 62 ปี ข้าราชการบำนาญ (สังกัด กอ.รมน.จว.สุโขทัย) เจ้าของบ้าน บอกว่า เมื่อ 2 เดือนก่อนได้ว่าจ้างช่างให้มาขุดเจาะบ่อบาดาลตรงทุ่งนาติดกับสวนผลไม้หลังบ้าน ซึ่งอยู่ห่างจากประปาหมู่บ้านแค่ 200 เมตร โดยขุดเจาะลึกลงไป 70 เมตรก็เจอน้ำพุ่งขึ้นมา แต่ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าน้ำมีรสซ่าคล้ายโซดา
กระทั่งได้จ้างช่างมาติดตั้งปั๊มน้ำโซลาร์เซลล์ แล้วพวกช่างได้ลองดื่มน้ำจากบ่อที่เพิ่งขุดเจาะ จึงรู้ว่ามีรสชาติแปลกคล้ายโซดา และซ่าติดลิ้น ไร้กลิ่นใดๆ พอลองเอาไปรดต้นไม้ ก็สังเกตพบว่าต้นไม้ใบหญ้าจะมีสีเขียวเข้มกว่าปกติ เหมือนกับว่าในน้ำมีแร่ธาตุบำรุง
"ตื่นเต้นและดีใจ ก็ยังแอบลุ้นกันในใจด้วยว่านี่อาจจะเป็นน้ำแร่คุณภาพเทียบระดับโลก ราคาขวดละ 3,000 บาท เหมือนกับที่เจอในพื้นที่ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี จึงอยากให้หน่วยงานเกี่ยวข้องเข้ามาพิสูจน์ ตรวจสอบว่าแท้จริงคืออะไร มีสารปนเปื้อน เป็นพิษหรือไม่ ให้หายข้องใจไปเลย" ชาวบ้านในพื้นที่ระบุ
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ล่าสุดมีรายงานจาก นายสุดใจ วงชารี ผู้อำนวยการกองมาตรฐานคุณภาพน้ำบาดาล ว่า จากผลการเก็บตัวอย่างน้ำบาดาลโซดาที่สุโขทัยไปวิเคราะห์ โดยสำนักทรัพยากรน้ำบาดาล เขต 7 กำแพงเพชร พบว่าแหล่งกำเนิดน้ำแร่ที่สุโขทัย มีปริมาณไบคาร์บอเนตและแคลเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายสูง ใกล้เคียงกับน้ำแร่ที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศฝรั่งเศสจริงๆ
นายสุดใจ อธิบายต่อว่า แต่ทว่าต้องมีการกรองก่อนที่จะนำไปดื่มบริโภค เนื่องจากในน้ำบาดาลโซดาแหล่งนี้ มีความเป็นกรดอ่อน ๆ ค่า pH 6.2 ความกระด้าง 530 ppm. แต่ค่าปกติจะอยู่ที่ 300 ppm. และสูงไม่เกิน 500 ppm. อีกทั้งยังมีแร่แมงกานีส 0.6 ppm. ซึ่งทั่วไปจะอยู่ที่ไม่เกิน 0.3 ppm. ฉะนั้นถ้าจะนำไปดื่มบริโภค จะต้องกรองแร่แมงกานีสออกเสียก่อน ให้ค่าเป็น 0 หรือไม่เกิน 0.3 ppm. เพื่อความปลอดภัย
ทั้งนี้ นายสุดใจ กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ แหล่งนํ้าบาดาลโซดาส่วนใหญ่มาจากหินปูน ซึ่งก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เดินทางขึ้นมาตามรอยแยกของชั้นดิน และรวมตัวกับนํ้าบาดาลในชั้นหินกักเก็บนํ้าบาดาลด้านบน โดยมีชั้นหินปกคลุมปิดทับอยู่ ส่งผลให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ไม่สามารถซึมผ่านออกชั้นบรรยากาศได้
"นํ้าบาดาลโซดามีคุณสมบัติค่อนข้างเป็นกรด มีไบคาร์บอเนตในนํ้าค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นผลทําให้เกิดฟอง และให้รสชาติที่สดชื่น และในนํ้าก็อาจมีองค์ประกอบบางตัวที่มากเกินไป จึงต้องอาศัยกระบวนการตกตะกอน หรือการกรอง โดยต้องไม่ทําให้สารประกอบที่สําคัญในนํ้าแร่ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงไปด้วย" นายสุดใจ กล่าว
ภาพจาก กรมทรัพยากรน้ำบาดาล