- 23 มิ.ย. 2566
เปิดโพสต์สุดท้าย เพจ "น้องเบนซ์" วางแผนเรื่องเงินๆ บอกเลยว่า น้องมีความสามารถ ความรู้ และเป็นเด็กที่มีคุณภาพมาก ๆ
จากกรณี เหตุถังดับเพลิงระเบิด ที่โรงเรียนราชวินิตมัธยม ส่งผลให้มีเด็กนักเรียน เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ จำนวนมากนั้น ล่าสุดได้ตรวจสอบ ไปที่เฟซบุ๊ก "น้องเบนซ์" ขุมทอง นร.ชั้น ม.6 ที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ ซึ่งเจ้าตัว ได้ทำลังทำเพจให้ความรู้ ด้านการเงิน ชื่อว่าเพจ วางแผนเรื่องเงินๆ ซึ่งบอกได้เลยว่า เป็นเพจที่มีประโยชน์มาก ๆ โดยทางเพจได้โพสต์ข้อความสุดท้าย ระบุ
สวัสดีครับท่านผู้อ่านทุกท่าน ตามที่ผมได้ให้สัญญาไว้บทความในครั้งนี้จะเกี่ยวกับ “การบริหารเงินของตัวผม”
ซึ่งประสบการณ์ของผมนั้นเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงวัยเด็กจวบจนปัจจุบันครับ ผมจะขอเล่าย้อนไปในช่วงวัยเด็ก สมัยนั้นเด็กๆทุกคนถูกพร่ำสอนการจัดการเงินด้วยวิธีง่ายๆ นั่นคือรายได้ – รายจ่าย=เงินออม ซึ่งวิธีนี้สามารถใช้ได้ครับแต่ หากเราใช้เงินที่ได้มานั้นหมดล่ะ แล้วเงินออมของเราจะเพิ่มพูนขึ้นจากเดิมได้อย่างไรและหากเด็กๆเหล่านั้นมีของที่อยากได้ล่ะ ไม่ว่าจะเป็น ของเล่น ขนมหลายห่อ หรือแม้กระทั่งการใช้เงินไปกับความพอใจต่างๆ และวัยเด็กของผมนั้นก็ใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับสิ่งที่กล่าวมา ซึ่งทำให้ผมในบางวันในแต่ละเดือนไม่มีเงินที่จะนำมาใช้ซื้ออาหาร ตรงจุดนี้แหละครับทำให้ผมตระหนักเรื่องเงินออมหรือโดยส่วนตัวผมเรียกมันว่า “เงินกันตาย” เงินที่ผมจะเก็บออมนั้นจะเป็นเงินที่ใช้ยามฉุกเฉินซะส่วนใหญ่ในช่วงนั้นแต่ผมก็มีเก็บเพื่อที่อยากจะเห็นตัวเงินมีเยอะขึ้นจนพอใจ ในวัยเด็กผมบริหารเงินโดยถือคติว่า “เงินที่เสียไปจะไม่เป็นไรหากเราได้เงินมามากกว่า” หมายความว่า หากผมใช้เงินไป 50 บาท และผมได้เงินเพิ่ม 100บาท = ผมไม่เสียเงิน ใช่ครับมันเป็นวิธีคิดที่ไม่น่าดูชมเลยล่ะครับและจุดเปลี่ยนมาถึง เมื่อผมอายุ 11-13 ปี ผมตระหนักได้มากขึ้นและผมมีความตั้งใจที่จะออมเงินให้ได้ 10,000บ. ในตอนที่จบป.6 …. ใช่ครับ ผมสำเร็จในการเก็บเงินตามเป้าจากความตั้งใจและมุ่งมุ่นมากพอ และหลังจากนั้นผมก็ได้เข้าสู่โลก “การเงินและการลงทุน”
ในช่วงแรกเมื่อผมได้เข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินในแบบต่างๆซึ่งเป็นความเข้าใจหลักพื้นฐานทำให้ผมได้รู้ว่าสิ่งที่ตัวผมในวัยเด็กเคยคิดเรื่องการจัดการเงินนั้นมีทั้ง ถูกและควรปรับปรุง หลังจากที่ผมมีความรู้ในเรื่องการจัดการเงิน บริหารเงิน ผมไม่รอช้าได้นำวิธีต่างๆมาปรับใช้เรื่อยมา ลองวิธีการต่างๆที่คิดว่าดี จนกระทั่งผมค้นพบวิธีที่เรียกว่า “ไห 6 ใบ” ซึ่งวิธีเหล่านี้แบ่งได้หลายแบบใครต้องการไหกี่ใบในการจัดการเงินโดยขั้นต่ำแล้วจะมีไห 4 ใบ “ไห 6 ใบ” หมายถึง การแบ่งเงินก้อนหรือรายได้ของเราออกเป็น 6 ส่วนดังนี้ 1.ใช้ประจำวัน
2. ออมเงิน 3.ลงทุน 4.การศึกษา 5.บริจาค และสุดท้าย 6.ใช้ตามใจ โดยแบ่งออกเป็นสัดส่วนตามนี้ครับ
- 55% , 10% , 10% , 10% , 5% , 10% ตามลำดับ ซึ่งผมได้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับตัวผมดังนี้ครับ
- 55% , 15% , 5% , 5% , 5%, 15% =100% แต่ผมนั้นเปลี่ยนจากการบริจาคเป็นสุขภาพ โดยการจัดงเงินแบบนี้ทำให้ผมนั้นเห็นตัวเงินได้ละเอียดยิ่งขึ้นว่าเรามีเงินแต่ละส่วนอยู่เท่าไหร่ ซึ่งจะต่างจากการใช้เงินเป็นก้อนเดียวกันเลยซึ่งจะทำให้เราไม่รู้ว่ามีเงินในส่วนต่างๆที่สามารถใช้ได้อยู่เท่าไหร่ หลักการ “ไห 6 ใบ” ได้ทำให้ผมจัดการและบริหารเงินที่ได้ต่อเดือนได้เป็นอย่างดี ผมได้เงินต่อเดือน 6,000 ซึ่งเงินในส่วนนี้ผมต้องใช้จ่ายดูแลตัวเองในทุกวันบางท่านที่อ่านมาอาจสงสัยว่าเงินที่ผมได้ต่อเดือนรวมค่าอาหารในแต่ละมื้อไหม คำตอบคือผมต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับ อาหารการกินทุกมื้อ สิ่งของต่างๆ รวมทุกค่าอินเทอร์เน็ตต่างๆด้วยตัวผมเองทั้งหมดในแต่ละเดือน หลักการ “ไห 6 ใบ” จึงเป็นคำตอบที่ใช่สำหรับผมในตอนนี้ที่ดีที่สุด ผมมีเงินออมประจำต่อเดือนที่ต้องแยกทันทีหลังได้เงินเดือน จากนั้นผมจะนำไปจัดสรรไว้ในส่วนต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น วิธีการนี้เหมาะกับผู้คนที่ได้รับเป็นเงินก้อนไม่จะเป็น ต่อสัปดาห์ หรือ ต่อเดือน ก็สามารถใช้ได้เช่นกัน ผมอาจลืมบอกไปว่าตัวผมในตอนนี้เป็นนักเรียนธรรมดาๆ คนหนึ่งที่มีความสนใจด้าน การเงินและการลงทุนรวมถึงความรู้ข่าวสารที่
เกี่ยวข้อง และสุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่อ่านเรื่องราวการจัดการเงินของผม ขุมทอง เปรมมณี (เบนซ์) ในบทความถัดไปจะเกี่ยวกับเรื่องใดขอให้ทุกท่านโปรดตั้งตารอคอยได้เลยครับ