- 06 ก.ค. 2566
"พายุสุริยะ" คืออะไร NASA เตือนจับตา พายุสุริยะ 2025 มีโอกาสเกิน 10 เปอร์เซ็น ทำระบบอินเทอร์เน็ตล่มยาวนานเป็นเดือนๆ
เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 66 "อาจารย์เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์" อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เผยถึงเรื่อง "พายุสุริยะ" ผ่านทางเพจ อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ ระบุว่า "NASA เตรียมการรับมือพายุสุริยะ 2025 อย่างไรบ้าง"
เช้านี้ให้สัมภาษณ์โฟนอินรายการข่าวเช้าจากช่องเนชั่น เกี่ยวกับกระแสความกังวลเรื่องที่บอกว่า นาซ่ากำลังจับตา "พายุสุริยะ" ว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยจะถึงจุดสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 และคาดว่ามีโอกาสเกิน 10 เปอร์เซ็น ที่จะทำให้ระบบอินเทอร์เน็ตล่มยาวนานเป็นเดือนๆ !?
ซึ่งวันก่อน ก็ได้โพสต์อธิบายเรื่องนี้ไปบ้างแล้ว ว่าเป็นการตีความกันไปเอง ทาง NASA ยังไม่เคยมีออกประกาศเตือนอะไรเกี่ยวกับเรื่องพายุสุริยะรอบนี้ และะสิ่งที่นาซ่าและหน่วยงานอื่นๆ พยายามทำ ก็คือหาวิธี "เตือนภัย" ให้ทันท่วงที ก่อนที่พายุสุริยะจะมาถึงโลก จะได้ป้องกันดาวเทียมและระบบไฟฟ้าต่างๆ ได้ทันท่วงที (อ่านโพสต์เก่า)
วันนี้เลยขอเอาข้อมูลจากข่าวของ usatoday.com ที่คนเอาไปแชร์อ้างอิงกันว่า จะเกิดวันสิ้นโลก "Internet apocalypse" ขึ้นนั้น มาสรุปให้ฟังอีกทีนึงครับ จะได้สบายใจกันมากขึ้น
- พายุสุริยะ (solar storm) เป็นคำที่ไม่ใช่ศัพท์ทางการทางวิทยาศาสตร์ แต่คำที่ผู้คนเรียกกันเอง ใช้เมื่อมีอนุภาคและพลังงาน เช่น ลมสุริยะ (solar wind) เปลวสุริยะ (solar flare) และ ก้อนมวลสารจากโคโรนา หรือ CME (coronal mass ejection) ถูกปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์อย่างรุนแรง จนอาจเกิดปัญหาขึ้นกับระบบดาวเทียมที่โคจรรอบโลกได้
- ลมสุริยะ เกิดขึ้นจากการแผ่กระจายตัวออก ของอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า จากโคโรนา (corona) ซึ่งเป็นพลาสมาชนิดหนึ่งที่อยู่บนชั้นบรรยากาศด้านนอกสุดของดวงอาทิตย์ และอนุภาคเหล่านี้เคลื่อนที่เร็วมาก ถึง 1-2 ล้านไมล์ต่อชั่วโมง (ดูในรูปประกอบ จะเห็นว่า ในขณะที่แสงอาทิตย์เดินทางถึงโลกในเวลา 8 นาที ลมสุริยะจะใช้เวลา 4 วัน) และส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศของโลกเราได้ รวมไปถึง อนุภาคของโคโรนาและการแผ่รังสีแม่เหล็กไฟฟ้า จากเปลวสุริยะและ CME ที่ปลดปล่อยจากดวงอาทิตย์ ที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดผลกระทบที่รุนแรงเปรียบได้กับมี "พายุ" จากดวงอาทิตย์ พุ่งเข้าใส่โลกของเรา
- ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่าปรากฏการณ์ CME นั้นจะเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีค่าสูงสุดในทุก 11 ปี หรือก็คือคาดการณ์กันว่าจะสูงสุดในปี ค.ศ. 2025 นี้ และทำให้ดวงอาทิตย์มีกิจกรรมการทำงานที่เกี่ยวกับแม่เหล็กไฟฟ้าสูงสุดในช่วงนั้น เรียกว่า เกิด "solar maxiumum โซลาร์แม็กซิมั่ม" ขึ้น และโลกก็มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นที่จะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยอาจจะเกิด "พายุแม่เหล็กโลก (geometric storm)" ขึ้น ซึ่งส่งผลรบกวนบดบังสัญญาณของดาวเทียม การติดต่อสื่อสารด้วยวิทยุ ระบบอินเตอร์เน็ต และระบบสายส่งไฟฟ้า จนบางคนกลัวว่ามันจะเป็นการล่มสลายทางเทคโนโลยี
- แต่จริงๆ แล้ว ความน่าจะเป็นที่พายุสุริยะจะถึงขนาดสร้างความเสียหายกับระบบอินเตอร์เน็ตได้แบบนั้น ยังต่ำมาก โดยจากผลการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 2021 ของ Sangeetha Abdu Jyothi ผู้เชี้ยวชาญด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จากมหาวิทยาลัย the University of California, Irvine ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้สรุปว่า ใน 10 ปีข้างหน้านี้ มีโอกาศอยู่เพียง 1.6% ถึง 12% ที่ระบบอินเตอร์เน็ตจะถูกรวบกวนเป็นเวลานานได้ อันเนื่องจากพายุสุริยะ .. แต่ถ้าเกิดขึ้นจริง ผลการศึกษาได้ประเมินว่า จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อินเตอร์เน็ตจะล่มได้มากกว่าเอเชีย อยู่สูงถึง 7 พันล้านเหรียญสหรัฐ ต่อวัน
- องค์การนาซ่า ได้เตรียมการรับมือกับเรื่อง พายุสุริยะ มาโดยตลอด ด้วยการจัดทำโครงการต่างๆ ด้าน Heliophysics (เฮลิโอฟิสิกส์ คือ ฟิสิกส์ที่เกี่ยวกับดวงอาทิตย์) เพื่อศึกษาและพยากรณ์ สภาพภูมิอวกาศ (space weather) ด้วยการใช้ยานอวกาศหลากหลายลำที่คอยติดตามการเกิดกิจกรรมของดวงอาทิตย์ขึ้น
- ล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว นาซ่าได้ส่งจรวดปล่อยยาน Parker Solar Probe ที่จะมีส่วนช่วยเป็นอย่างมากในการป้องกันไม่เกิดหายนะอินเตอร์เน็ตอย่างที่กังวลกัน โดยในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 นาซ่าได้ส่งจรวด Alliance Delta IV Heavy ขึ้นจากท่าปล่อยจรวด Complex 37 ที่แหลมคานาเวอรัล ซึ่งในจรวดนี้มียาน Parker Solar Probe ที่จะมุ่งหน้าไปยังดวงอาทิตย์ และในปี 2021 ก็ได้เข้าใกล้พื้นผิวของดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยสามารถเข้าไปถึงโคโรนา ที่อยู่ในบรรยากาศชั้นบนของดวงอาทิตย์และมีกระแสลมสุริยะเกิดขึ้น
- ที่จุดนี้เอง แม้ว่าจะอยู่ในสภาพร้อนจัดรุนแรงก็ตาม ที่ยานโพรบ Parker Solar Probe ได้เก็บข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับดวงอาทิตย์ และทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่ว่าทำไมอนุภาคของลมสุริยะถึงได้พุ่งเร็วระดับซุปเปอร์โซนิก (เร็วกว่าเสียง) และส่งผลกระทบอย่างมากต่อสภาพภูมิอวกาศได้ ดังเช่น ทำให้ทราบว่า ลมสุริยะนั้น ได้รับการเติมพลังจากพลังงานในรูปของ เจ็ตขนาดเล็ก (เรียกว่า jetlet ) ที่บริเวณฐานของโคโรนา ทำให้ลมสุริยะถูกเร่งความเร็วและร้อนขึ้นได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในก้าวย่างที่สำคัญของการไขปริศนาเกี่ยวกับฟิสิกส์ของดวงอาทิตย์
- ยิ่งไปกว่านั้น นาซ่ายังได้จัดทำแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการรวมกันระหว่าง ปัญญาประดิษฐ์ และ ข้อมูลดาวเทียม ที่จะสามารถส่งสัญญาณเตือนภัยให้รู้ถึงสภาพภูมิอวกาศที่เลวร้ายได้ คล้ายกับไซเรนแจ้งเตือนพายุ มันจะทำนายได้ว่า พายุสุริยะจะโจมตีโลกที่บริเวณใด ในเวลาเตือนภัยล่วงหน้า 30 นาที ซึ่งมากเพียงพอสำหรับการเตรียมและป้องกันความเสียหาย ที่อาจเกิดกับระบบสายส่งไฟฟ้า และโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอื่นๆ
- ทีมวิจัยนานาชาติ จากห้องปฏิบัติการ the Frontier Development Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาล อย่าง นาซ่า , สำนักงานสำรวจธรณีวิทยาแห่งสหรัฐอเมริกา , และกระทรวงพลังงาน สหรัฐ ได้ร่วมกันใช้ เอไอ ในการหาความเชื่อมโยงระหว่างลมสุริยะ กับ การรบกวนสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งด้วยวิธี “deep learning” ของเอไอ จะทำให้นักวิจัยสามารถฝึกเครื่องคอมพิวเตอร์ให้เรียนรู้ถึงรูปแบบความเชื่อมโยงได้ จากเหตุการณ์ครั้งก่อนๆ ที่เคยเกิดขึ้น และนาซ่า หวังว่า วันหนึ่งเราจะสามารถแจ้งเตือนภัยพายุสุริยะให้กับระบบไฟฟ้าและระบบดาวเทียมทั่วโลก ได้อย่างทันท่วงที