- 17 ส.ค. 2566
จากกรณีดราม่าหัวหน้าไม่ให้ลูกน้องลางานไปเฝ้าแม่ที่ป่วย กระทั่งต่อมาแม่ของพนักงานเสียชีวิต แต่หัวหน้าคนเดิมกลับบอกให้มาลาออก ล่าสุด ทนายรณณรงค์ ออกมาเคลื่อนไหวถึงเรื่องนี้แล้ว
สืบเนื่องจากโพสต์ฮือฮา สาวลางานไปดูใจแม่แต่ HR ไม่อนุญาต และเมื่อเธอแจ้งว่าแม่เสียชีวิตแล้วขอลากลับบ้าน HR คนเดิมกลับไล่ออก บอกว่าเสร็จธุระแล้วให้มาเขียนใบลาออก ซึ่งตอนนี้โพสต์ถูกแชร์ออกไปมากกว่า 9 หมื่นครั้งในชั่วข้ามคืนและกำลังเป็นประเด็นเดือด ชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปบุกหน้าเพจโรงแรมต้นสังกัดเพื่อทวงถามคำอธิบายจากทางโรงแรมกับการบริหารดูแลพนักงานแบบนี้
ดราม่าสาวลางานแม่เสียชีวิตแต่ถูกไล่ออก ล่าสุด วันที่ 17 สิงหาคม 2566 บนเฟซบุ๊กทนายคู่ใจ ทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ ประธานเครือข่ายรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม ได้ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ พร้อมเปิดข้อกฎหมายแรงงานกันชัดๆว่ากรณีนี้ HR สามารถไล่พนักงานคนนี้ออกได้หรือไม่
ทนายรณณรงค์ เผยว่า กรณีหญิงสาวรายหนึ่งได้โพสต์รูปภาพ ซึ่งเป็นรูปภาพการสนทนาผ่านทางไลน์ กรณีขอลางาน เพื่อไปเยี่ยมแม่ที่ป่วย สุดท้ายแม่เสียชีวิตขอลางานอีกครั้งกลับถูกให้ไปเขียนใบลาออก
โดยระบุว่า สำหรับผู้เสียหายเป็นหญิงสาวชาวจังหวัดบุรีรัมย์ ที่มาทำงานที่โรงแรมหรูแห่งหนึ่ง ที่เขาใหญ่ ซึ่งหญิงสาวรายนี้ได้ส่งข้อความผ่านทางไลน์ ไปรายงานกับไลน์ที่อ้างว่า เป็นฝ่ายบุคคลของโรงแรม ว่า ขอลาหยุด ซึ่งลาวันแรก เพื่อพาแม่ไปฉีดยา ซึ่งฝ่ายบุคคลโรงแรมก็ให้ลาได้ และวันที่ 2 หญิงสาวรายนี้ ได้ส่งข้อความไปแจ้งกับทางฝ่ายบุคคลของโรงแรมว่า "แม่มีอาการแย่" ซึ่งคาดว่าจะอยู่ไม่พ้นวันนี้ จึงขอลางานเพิ่มอีกวัน
แต่ปรากฏว่าฝ่ายบุคคลของทางโรงแรมไม่ยอมให้ลา จนกระทั่งหญิงสาวรายนี้ส่งข้อความกลับไปบอกอีกครั้งว่าแม่เสียชีวิตแล้ว จึงขอลากลับบ้านเลย ซึ่งก็ได้รับคำตอบกลับมาว่า "จะลาออกใช่หรือไม่ เสร็จธุระแล้วก็ให้กลับมาเขียนใบลาออก" ซึ่งหญิงสาวรายนี้ก็ตอบรับว่า "ค่ะ" พร้อมกับตั้งคำถามว่า เธอทำอะไรผิดเรื่องนี้หัวหน้าคนนี้ควรเห็นใจเธอไม่ใช่หรือ จึงนำเรื่องราวดังกล่าวมาเผยแพร่ทางโซเชียล
ทนายรณณรงค์ กล่าวว่า ขณะที่สังคมมองเรื่องนี้ว่า เหตุใดฝ่ายบุคคลของโรงแรมจึงไม่มีความเมตตา ไม่เข้าใจเพื่อนมนุษย์ ไม่เข้าใจสิ่งที่มนุษย์โลกทั่วไป พ่อแม่เจ็บป่วย หรืออาจจะถึงขั้นเสียชีวิต ก็ต้องมีสิทธิไปดูแลรักษา ก่อนจะเสียชีวิต ซึ่งไม่มีใครบ้าทำงาน ปล่อยไม่สนใจคนในครอบครัว ซึ่งฝ่ายบุคคลที่ตอบกลับหญิงรายดังกล่าวมาที่ระบุบอกว่าไม่สามารถลาได้ นั้นหากเจอเหตุการณ์เดียวกัน จะทำอย่างไร
แต่หากมองในแง่กฎหมายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน สังคมอาจจะเห็นใจลูกจ้าง แต่กติกาได้ระบุไว้ว่า การลากิจ ลาได้ไม่น้อยกว่า 3 วันต่อปี นายจ้างต้องให้ลูกจ้างสามารถลากิจได้ แต่การลากิจ ไม่ได้หมายความว่าส่งข้อความไปแจ้งแล้วจะหยุดได้ทันที ซึ่งคำว่าลา ต้องรอให้นายจ้างอนุมัติด้วย หากนายจ้างอนุมัติ จึงจะลากิจได้ เพราะการลากิจนั้นได้ค่าจ้าง แต่การขอลากิจ แล้วไม่ให้ลา แต่ให้ไปลาออกเลยเป็นการบีบบังคับ ไม่สามารถทำได้
ข้อกฎหมาย ระบุไว้ว่า หากลูกจ้างลาไม่ได้ แต่ลูกจ้างหยุดงานติดต่อกัน 3 วัน โดยไม่ติดต่อนายจ้างเลย ลักษณะนี้นายจ้างมีสิทธิไล่ออก แต่กรณีนี้พนักงานลาพาแม่ไปหาหมอ และแม่เสียชีวิต เท่ากับว่าขาดงานแค่ 1 วัน การให้เขียนใบลาออก ถือเป็นการบีบบังคับลูกจ้าง แต่หากมองในมุมของนายจ้าง หากนายจ้างเจอแต่ลูกน้องที่ลาบ่อยๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ
ตนเองในฐานะเป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากเข้าไปพักโรงแรมหรู ก็อยากจะให้ค่าใช้จ่ายที่ได้จ่ายไป กระจายไปถึงลูกจ้าง แต่หากโรงแรมหรูแห่งนี้ มีฝ่ายบุคคลที่บริหารแบบนั้นจริง ตนเองก็จะเป็นลูกค้าคนนึงที่ไม่ไปใช้บริการ จึงจี้ให้โรงแรมออกมาชี้แจงว่าสาเหตุมันเกิดอะไรขึ้น จะได้เข้าใจในมุมของนายจ้างด้วย
แต่อย่างไรก็ตาม เคสที่เกิดขึ้นนี้ยืนยันว่า HR ไม่สามารถไล่พนักงานคนนี้ออกได้ สิ่งที่ทำเป็นการบีบบังคับให้ลาออก ไม่ได้มาจากความสมัครใจ เพราะฉะนั้นไล่ออกไม่ได้
ขอบคุณ ทนายคู่ใจ