- 30 ส.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ เตือน หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง ดูให้ดี อย่ากินเด็ดขาด อันตรายถึงชีวิต
"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้ออกมาให้ข้อความ เตือนเรื่อง หมึกสายวงน้ำเงิน หรือ หมึกบลูริง โดยได้ระบุข้อความว่า
"หมึกสายวงน้ำเงิน ห้ามนำมารับประทานนะครับ แม้จะทำให้สุกก็ตาม"
เมื่อวานนี้ มีคนนำภาพของปลาหมึกในอาหาร มาโพสต์ถามในกลุ่ม FB ด้วยความที่เขาสงสัยว่าเป็น "หมึกบลูริง" หรือเปล่า
และคำตอบก็ออกมาค่อนข้างเป็นเอกฉันท์นะครับ ว่าเจ้านี่น่าจะเป็น "หมึกบลูริง หรือหมึกสายวงน้ำเงิน" สายพันธุ์หนึ่งของปลาหมึกที่มีพิษร้ายแรงมาก พบได้ในประเทศไทย
วิธีสังเกตก็คือ มันเป็นหมึกสาย รูปทรงแบบเดียวกับปลาหมึกยักษ์ตัวเล็กๆ หัวโตๆ หนวดเยอะๆ มีลวดลายรูปวงแหวนอยู่ทั่วไป ทั้งที่ตัวและหนวด ... ซึงจะแตกต่างกับพวกหมึกสายอิ๊กคิว ที่มีวงแหวนแค่ 1-2 วงที่ตัว อันนั้นไม่มีพิษ สามารถนำมาทานได้
ต่อมพิษของหมึกบลูริงจะอยู่ที่ปาก ไม่ได้กระจายทั่วไปตามลําตัว ผู้ที่ได้รับพิษนั้นจึงมักเกิดจากการถูกมันกัด ไม่ใช่จากการสัมผัสโดนตัว .. แต่ก็ไม่ควรรับประทานเข้าไปอยู่ดี เพราะอาจเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายได้ แม้จะเอาไปทำให้สุกก็ตาม เพราะสารพิษในตัวมันก็ทนความร้อนสูงได้ถึง 200 องศาเซลเซียส !
พิษของหมึกบลูริงหรือหมึกสายสีน้ำเงินมีชื่อว่า Maculotoxin (มาคูโลทอกซิน) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับพิษของปลาปักเป้าที่มีชื่อว่า Tetrodotoxin (เทโทรโดทอกซิน) สามารถพบพิษนี้ได้ในต่อมน้ำลาย (Salivary gland) ปาก หนวด ลำไส้ และต่อมหมึก พิษชนิดนี้จะทำลายระบบประสาททำให้ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ และทำให้เหยื่อตายหรือเป็นอัมพาต
ผู้ที่ถูกหมึกบลูริงกัดเปรียบเหมือนการฉีดยาพิษเข้าเส้นเลือดโดยตรง โดยพิษจะออกฤทธิ์อย่างรวดเร็ว และเร็วกว่าพิษจากปลาปักเป้า
อาการเริ่มแรกของผู้ที่ถูกกัดหรือกินหมึกบลูริงเข้าไปจะมีอาการคลื่นไส้ ตาพร่าเลือน มองไม่เห็น ประสาทสัมผัสไม่ทำงาน พูดหรือกลืนน้ำลายไม่ได้ จากนั้นจะเป็นอัมพาตและหยุดหายใจเนื่องจากสมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีจะทำให้ตายในที่สุด