มีขยี้หู รายชื่ออาหารประจำจังหวัด ทั้ง 77 เมนู วธ.เลือก ใครได้ฟังมีร้องห๊ะ!

ถึงกับขยี้หู รายชื่ออาหารประจำจังหวัด ทั้ง 77 เมนู หลังกระทรวงวัฒนธรรมเลือกให้เชิดชูอาหารถิ่น ใครได้ฟังมีร้องห๊ะ!...

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ออกประกาศ เรื่องผลการคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566  ลงวันที่ 29 ส.ค. 2566 โดยระบุว่า ตามที่กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้ดำเนินการจัดกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ภายใต้โครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่น สู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหารไทย อาหารท้องถิ่น ที่มีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตคนไทย รวมถึงการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศ รวมทั้งเสนอสาระความรู้เกี่ยวกับอาหารไทย และอาหารท้องถิ่น ต่อยอดสมุนไพรไทย สรรพคุณทางเลือกและส่งต่อเป็นภูมิปัญญาที่มีการสืบทอดรุ่นสู่รุ่น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมศักยภาพของเครือข่ายวัฒนธรรมในการบริหารจัดการงานวัฒนธรรมอย่างยั่งยืนบนพื้นฐานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมท้องถิ่นนั้น

ขณะนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ได้พิจารณาคัดเลือกกิจกรรม “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” โดยมีรายการอาหารที่ได้รับการคัดเลือกเป็น “1 จังหวัด 1 เมนู เชิดชูอาหารถิ่น” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 จำนวน 77 เมนู ดังนี้

1. ข้าวตอกตั้ง : กรุงเทพมหานคร
2. แกงมัสมั่นกล้วยไข่ : กำแพงเพชร
3. ยำไกน้ำของ (สาหร่ายแม่น้ำโขง) : เชียงราย
4. ตำจิ๊นแห้ง : เชียงใหม่
5. เมี่ยงจอมพล : ตาก
6. ทอดมันปลากราย : นครสวรรค์
7. แกงแคไก่พื้นเมือง : น่าน
8. หลนปลาส้มพะเยา : พะเยา
9. ยำส้มโอกระทงทองสูตรเมืองชาละวัน : พิจิตร
10. น้ำพริกเม็ดบัวปลาย่าง : พิษณุโลก
11. ปิ้งไก่ข้าวเบือ : เพชรบูรณ์
12. น้ำพริกน้ำย้อย : แพร่
13. ข้าวส้ม โถ่โก้ : แม่ฮ่องสอน
14. ยำปลาแห้ง : ลำปาง
15. แกงฮังเลลำไย อำเภอเมืองลำพูน : ลำพูน
16. ข้าวเปิ๊บสุโขทัย : สุโขทัย
17. อั่วบักเผ็ด : อุตรดิตถ์
18. ข้าวแดะงา : กาฬสินธุ์
19. ปลาแดกบองสมุนไพร : ขอนแก่น
20. คั่วเนื้อคั่วปลา : ชัยภูมิ
21. เมี่ยงตาสวด : นครพนม
22. เมี่ยงคำ (โคราช) : นครราชสีมา
23. หมกหม้อปลาน้ำโขง : บึงกาฬ
24. ขนมตดหมา : บุรีรัมย์
25. แจ่วฮ้อนท่าขอนยาง : มหาสารคาม
26. ตำเมี่ยงตะไคร้ ลำข่าสดใส่มดแดง : มุกดาหาร
27. อั่วกบ (กบยัดไส้) : ยโสธร
28. ข้าวปุ้นน้ำยาปลาหลด : ร้อยเอ็ด
29. ส้าปลาน้ำโขง : เลย
30. ละแวกะตาม : ศรีสะเกษ
31. แกงหวาย : สกลนคร
32. เบาะโดง (น้ำพริกมะพร้าวโบราณ) : สุรินทร์
33. หลามปลาน้ำโขง : หนองคาย
34. เมี่ยงคำลำภู : หนองบัวลำภู
35. อู๋พุงปลา : อำนาจเจริญ
36. ข้าวต้มมัดบัวแดง อำเภอเมืองอุดรธานี : อุดรธานี
37. ลาบหมาน้อย : อุบลราชธานี
38. แกงส้มญวน : กาญจนบุรี
39. ต้มปลาร้าหัวตาล : ชัยนาท
40. ยำส้มโอ : นครปฐม
41. ข้าวตอกน้ำกะทิทุเรียนนนท์ : นนทบุรี
42. เมี่ยงคำบัวหลวง : ปทุมธานี
43. แกงคั่วส้มหน่อธูปฤาษีกับปลาช่อนย่าง : ประจวบคีรีขันธ์
44. แกงเหงาหงอด : พระนครศรีอยุธยา
45. แกงหัวตาล : เพชรบุรี
46. แกงกะลากรุบ : ราชบุรี
47. ยำปลาส้มฟัก : ลพบุรี
48. แกงรัญจวน : สมุทรสงคราม
49. ต้มยำปลาทูโบราณ : สมุทรสาคร
50. แกงบวน : สิงห์บุรี
51. ปลาหมำสมุนไพรทอดกรอบ : สุพรรณบุรี
52. ปลาแนม : อ่างทอง
53. ต้มส้มปลาแรด : อุทัยธานี
54. ลุกกะทิ หรือน้ำพริกกะทิชองพร้อมผักเคียง : จันทบุรี
55. หมูหงส์ : ฉะเชิงเทรา
56. ปลาคก : ชลบุรี
57. แกงเลียงกะแท่งหอยนางรม : ตราด
58. น้ำพริกป่ามะดัน : นครนายก
59. แกงกะทินางหวาน : ปราจีนบุรี
60. แกงส้มผักกระชับ : ระยอง
61. ขนมย่างจากใจ : สมุทรปราการ
62. น้ำพริกกะสัง : สระแก้ว
63. ลาบหัวปลี : สระบุรี
64. ปลาจุกเครื่อง : กระบี่
65. แกงส้มหยวกกล้วยกับหมูสามชั้น : ชุมพร
66. โกยุก : ตรัง
67. ขนมปะดา : นครศรีธรรมราช
68. อาเกาะ : นราธิวาส
69. ข้าวยำ : ปัตตานี
70. อาจาดหู : พังงา
71. แกงขมิ้น : พัทลุง
72. น้ำซุปเมืองหลาง 9 อย่าง : ภูเก็ต
73. ข้าวยำโจร (ข้าวยำคลุกสมุนไพร) : ยะลา
74. ก็กซิมบี้ : ระนอง
75. ข้าวสตู : สงขลา
76. ข้าวเหนียวเหลืองแกงแพะ : สตูล
77. แกงขมิ้นไตปลาโบราณ : สุราษฎร์ธานี

 

อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศ โลกออนไลน์ได้แสดงความคิดเห็นว่า คนในจังหวัด หรือคนพื้นที่กลับไม่เคยได้ยินอาหารท้องถิ่นตามที่ประกาศมาก่อน พร้อมพากันสงสัยว่าแต่ละอย่างหน้าตาเป็นยังไง