- 10 ก.ย. 2566
สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ ชี้แจงแล้ว หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ เป็นไมโครพลาสติก สูดดมอาจเสี่ยงมะเร็ง
ตามที่มีข้อมูลเตือนในสื่อโซเชียลเรื่อง หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ เป็นไมโครพลาสติก สูดดมอาจเสี่ยงมะเร็ง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ
กรณีที่มีผู้บอกต่อข้อมูลโดยระบุว่า หน้ากากอนามัยผ้าสปันบอนด์ที่เกิดจากเส้นใยสังเคราะห์ของโพลิเมอร์ที่เป็น “Polypropylene ( PP )” ซึ่งมีกลิ่นฉุน แตกยุ่ยได้ง่าย จะก่อให้เกิดฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เรียกว่า ไมโครพลาสติก หากสูดดมเข้าไปในร่างกายจะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง ทางสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ตรวจสอบข้อมูลและชี้แจงว่า หน้ากากอนามัยผลิตจากใยสังเคราะห์ประเภทเดียวกันกับผ้าสปันบอนด์ ซึ่งทำมาจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene จากรายงานขององค์การวิจัยมะเร็งนานาชาติ (International Agency for Research on Cancer ; IARC) ระบุว่า พลาสติกกลุ่ม Polypropylene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ หรืออยู่ในกลุ่ม 3
โดยในปัจจุบันการใช้หน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์จึงยังไม่มีข้อมูลว่า ทำให้เกิดโรคมะเร็ง ซึ่งพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่นำมาใช้ผลิตผ้าสปันบอนด์ใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายเร็วกว่าพลาสติกทั่วไป ทำให้เกิดความกังวลว่า พลาสติกชนิดนี้จะย่อยสลายเป็นไมโครพลาสติกแล้วปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีรายงานทางวิชาการที่ยืนยันแน่ชัดถึงไมโครพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อมแล้วก่อให้เกิดโรคมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้นจึงไม่ควรตื่นตระหนกเกี่ยวกับการใช้หน้ากากอนามัยจากใยสังเคราะห์สปันบอนด์
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.nci.go.th หรือ โทร. 02-202-6800
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : หน้ากากอนามัยผลิตจากใยสังเคราะห์เป็นประเภทเดียวกันกับผ้าสปันบอนด์ ซึ่งทำมาจากพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ซึ่งพลาสติกกลุ่ม Polypropylene ไม่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ดังนั้น การใช้หน้ากากอนามัยที่ทำมาจากผ้าสปันบอนด์จึงยังไม่มีข้อมูลว่า ทำให้เกิดโรคมะเร็ง
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข