ใครทำอยู่ต้องอ่าน ชัดแล้ว ผสมน้ำ ในน้ำยาล้างจาน อันตรายหรือไม่

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เปิดข้อมูลในประเด็น ข้อดี และข้อเสีย ของการ ผสมน้ำในน้ำยาล้างจาน หรือ สบู่เหลว

"อ.เจษฎ์" รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุ

"ผสมน้ำ ในน้ำยาล้างจาน มีทั้งข้อดีและข้อเสียครับ"

มีประเด็นถกเถียงกันในโลกโซเชียล เรื่องเกี่ยวกับ "การผสมน้ำในน้ำยาล้างจานหรือสบู่เหลว ว่าทำแบบนี้ แล้วเชื้อโรคจะเติบโตในขวดได้ เป็นอันตราย" ซึ่งทำให้หลายคนถกเถียงกันเพราะที่บ้านทำแบบนี้บ่อย

เรื่องนี้มาจากการที่ผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง ได้ออกมาโพสต์ว่า “ทุกคนรู้ใช่ปะ ไม่ควรผสมน้ำในน้ำยาล้างจานหรือสบู่เหลวอะ เพราะมันจะทำให้เชื้อโรคเติบโตในขวด วันนี้เพิ่งบอกที่บ้านไปเพราะเห็นน้ำยาล้างจานมันเหลวกว่าปกติ แม่บอกไม่เคยรู้มาก่อนเลย” !? ... สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในโลกโซเชียลฯ โดยเสียงแตก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วย

เรื่องนี้ เท่าที่เช็คข้อมูลมา มันก็มีทั้งข้อดีข้อเสียของการผสมน้ำในน้ำยาล้างจาน/สบู่เหลว ซึ่งเรื่องข้อดีจะออกไปในทางที่ช่วยให้ประหยัดขึ้น และทำให้เจือจางไม่หนืดเกินไป ใช้สะดวกขึ้น ... ส่วนข้อเสียนั้น ก็มีทั้งเรื่องของประสิทธิภาพในการล้างที่อาจจะต่ำลงถ้าเจือจางเกินไป และมีความกังวลในเรื่องเชื้อโรค/สารเคมีปนเปื้อนมากับน้ำประปาที่ผสมลงไป และเจริญเติบโตในนั้นจริง แต่เมื่อ "เจือจางมากๆ และเก็บไว้นานๆ"

ดังนั้น ก็ลองตัดสินใจกัน โดยพิจารณาถึงข้อดีข้อเสีย ตามที่รวบรวมมาด้านล่างนี้นะครับ .. แถมด้วย เคล็ดลับวิธีการล้างจานด้วยน้ำยาล้างจาน ด้วยครับ

ใครทำอยู่ต้องอ่าน ชัดแล้ว ผสมน้ำ ในน้ำยาล้างจาน อันตรายหรือไม่

ข้อดีของการผสมน้ำในน้ำยาล้างจาน

- ถ้าน้ำยาล้างจานนั้นเป็นแบบเข้มข้น (concentrated) ก็สามารถนำมาเจือจางด้วยน้ำเปล่า ให้เป็นความเข้มข้นปรกติ (เช่น ถ้าใช้น้ำยาล้างจานแบบเข้มข้น จนเหลืออยู่ 1 ใน 3 ของขวด ก็เอามาเติมน้ำเปล่าให้เต็มขวดอีกครั้ง) จะทำให้ใช้น้ำยาได้เป็นเวลาที่ยาวนานขึ้น ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น รวมใช้เอาวิธีนี้ไปละลายน้ำยาที่เหลือก้นขวด เพื่อใช้ให้หมดเกลี้ยงได้ด้วย

- ถ้าเจือจางน้ำในอัตราส่วนที่เหมาะสม ก็ไม่ได้จะทำให้น้ำยาล้างจานมีประสิทธิภาพต่ำลง แถมจะช่วยให้ล้างได้ดีขึ้นด้วย เนื่องจากจะเช็ดถูน้ำยาให้ทั่วจานชามได้ง่ายขึ้น จึงควรค่อยๆ ลองทดสอบด้วยการผสมน้ำเปล่าลงไปเพียงเล็กน้อยก่อน ว่าเจือจางเข้มข้นกำลังดีหรือไม่

- ซึ่งวิธีนี้ ก็เหมาะกับบ้านเรือนที่นิยมการล้างจานแบบทีละจานๆ โดยการเอาน้ำยาหยอดลงฟองน้ำล้างจาน (แบบที่คนไทยเรานิยมทำกัน)

- การเจือจางน้ำยาล้างจานด้วยน้ำเปล่านี้ ทำให้น้ำยาที่ได้ไม่หนืดมากเหมือนเดิม สามารถใช้ได้สะดวกขึ้น ไม่หยดออกจากหัวปั๊มเองได้ง่าย และเอาไปบรรจุในขวดผลิตภัณฑ์น้ำยาแบบสเปรย์ (เช่น ขวดน้ำยาเช็ดกระจก ที่ใช้หมดแล้ว) แล้วเอาไปใช้สเปรย์ในจานที่จะล้างได้

- ถ้าจะเจือจาง แนะนำให้แบ่งน้ำยามาผสมกับน้ำเปล่า เป็นปริมาณไม่มากนัก เก็บในขวดที่ขนาดเล็ก เพื่อที่จะทำให้ใช้ได้หมดขวดได้เร็วขึ้นและลดโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจะเจริญเติบโตในขวดได้

- และน้ำยาล้างจานนั้น ถูกผสมมาจากสารเคมีต่างๆ ในอัตราส่วนที่เหมาะสมในการทำความสะอาด และในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ดังนั้น การไปเจือจางด้วยน้ำเปล่านั้น จะทำให้น้ำยามีประสิทธิภาพลดลง ดังนั้น ถ้าจะเจือจาง ต้องระวังที่จะไม่เจือจางมากไป เพราะกลับจะทำให้ต้องใช้น้ำยา (ที่เจือจางแล้วนั้น) ล้างซ้ำๆ มากขึ้นจนกว่าจะสะอาด และก็จะไม่ทำให้ประหยัดได้อย่างที่คาดไว้

ข้อเสียของการผสมน้ำในน้ำยาล้างจาน

- แต่บริษัทที่ขายน้ำยาล้างจาน (อย่างยี่ห้อ Dawn ของบริษัท Procter & Gamble) ระบุว่า ไม่แนะนำให้เจือจางน้ำยาล้างจานในขวด แม้ว่าจะนำไปเจือจางใช้ แบบเอาไปผสมกับน้ำในอ่างล้างจาน ทั้งอ่างได้ (เป็นวิธีล้างจานแบบที่ฝรั่งนิยมทำ) เพราะจะทำให้เกิดการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย และสารอื่นๆ ในน้ำประปา

- บางบริษัท ก็ระบุว่า การผสมน้ำเปล่าลงไปเจือจางน้ำยาล้างจานในขวด แบบ "เจือจางมากๆ " เป็นเวลานานๆ จะทำให้เชื้อจุลินทรีย์เจริญเติบโตในนั้นได้ จึงแนะนำให้เจือจางในอ่างน้ำ เมื่อจะใช้ ดีกว่าเจือจางทิ้งไว้ในขวด

- ยิ่งถ้าล้างจานด้วยน้ำเย็น เชื้อจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนอยู่ก็จะยิ่งมีโอกาสมีชีวิตอยู่บนจานชามที่ล้างแล้ว และควรจะต้องล้างจานด้วยการแช่ในอ่างน้ำร้อน เพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อน (ซึ่งบ้านที่ล้างจานแบบทีละจาน มักจะไม่ล้างด้วยน้ำร้อน)

- ถ้าเอาน้ำยาล้างจานมาเจือจางด้วยน้ำเปล่าแล้ว แล้วเอาไปใช้ล้างจานแบบผสมกับน้ำในอ่างล้างจานอีก จะทำให้เจือจางมากเกินไป และก็กลับมาต้องเทน้ำยา (ที่เจือจางแล้ว) ลงไปในอ่างน้ำเยอะขึ้นอยู่ดี

เคล็ดลับในการใช้น้ำยาล้างจาน

1. กวาดทิ้งเศษอาหารออกจากจานชามให้หมด ก่อนล้าง

2. ใส่น้ำผสมกับน้ำยาล้างจานเล็กน้อย ลงไปแช่ในจานชามไว้ก่อนล้าง เพื่อให้คราบไขมันและเศษอาหารที่ติดแน่นกับจาน หลุดออกง่ายขึ้น

3. เริ่มต้นล้างจานชาม จากใบที่สะอาดที่สุดก่อน เพื่อให้น้ำผสมน้ำยานั้นสามารถใช้ล้างได้นานขึ้น ก่อนที่จะไปจบที่การล้างหม้อและกระทะที่น่าจะเลอะที่สุด

4. ถ้ามีอ่างล้างจานแบบ 2 อ่าง ให้แยกอ่างหนึ่งไว้ล้างจานชามด้วยน้ำผสมน้ำยา และอีกอ่างไว้ล้างออกด้วยน้ำเปล่า (อันนี้แบบใส่น้ำเต็มอ่าง อย่างที่ฝรั่งนิยมทำ)

5. เวลาตากจานชาม การตากพึ่งลมธรรมดานั้น เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดและถูกสุขอนามัยแล้ว ดีกว่าการใช้ผ้าเช็ดจานหลังล้างเสร็จเสียอีก เนื่องจากผ้าเช็ดจาน อาจจะมีเชื้อแบคทีเรียปนเปื้อนอยู่และแพร่กระจายไปยังจานชามระหว่างที่เช็ดได้

6. ถ้าล้างด้วยน้ำอุ่นได้ จะดีมาก น้ำยาล้างจานที่ผสมกับน้ำอุ่นจะสามารถล้างคราบไขมันออกจากจานชามได้ดีที่สุด

7. แยกล้างจานชามที่แตกง่าย เช่น เครื่องแก้ว หรือชามกระเบื้อง ออกมาล้างต่างหาก

8. ใส่ถุงมือยางในระหว่างล้าง ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันมือและผิวหนังแล้ว ยังทำให้ล้างด้วยน้ำร้อนได้ด้วย