- 12 ธ.ค. 2566
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ เผย กิ้งกือไม่ได้มีพิษร้ายแรง แค่ควรจะต้องระวัง
"อ.เจษฎ์" ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
"กิ้งกือไม่ได้มีพิษร้ายแรงนะครับ แค่ควรจะต้องระวัง อย่าไปจับต้องโดนตัวมัน หรือไปทำร้ายมันครับ"
มีคำถามหลังไมค์จากทางบ้าน บอกว่า "สวัสดีครับอาจารย์ ตอนนี้เริ่มมีคนแชร์เรื่อง กิ้งกือพิษ (ตามรูป) หากโดนกัดจะเกิดผลกระทบ สอบถามอาจารย์ว่ากิ้งกือแบบในรูปคือกิ้งกือพิษจริงไหม และกิ้งกือสามารถกัดเจอเป็นแบบในรูปได้หรือไม่ ?"
จริงๆ กิ้งกือตามภาพ มันก็กิ้งกือธรรมดาแหละครับ ไม่ใช่สายพันธุ์กิ้งกือพิษแต่อย่างไร และกิ้งกือนั้นก็ไม่ได้กัดนะครับ ไม่ได้มีเขี้ยวพิษแบบพวกตะขาบด้วย
แต่กิ้งกือมีสารบางอย่างที่มันจะขับออกมาเพื่อป้องกันตัว สารนี้มีฤทธิ์เป็นกรด เลยทำให้ผิวของคนที่ไปสัมผัสโดน อักเสบ ปวดแสบร้อนได้ และอาจมีบางคนเท่านั้นที่จะแพ้ถึงขั้นรุนแรงครับ
กิ้งกือนั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มีพิษอะไรในตัวเองเหมือนอย่างพวกตะขาบ แมงป่อง หรืองู แต่กิ้งกือบางชนิด (เช่น พวกกิ้งกือกระบอก) อาจจะปล่อยสารพวกไซยาไนด์ หรือพวกเบนโซควิโนน ออกมาเพื่อป้องกันตัวได้ ถ้าถูกทำร้าย เช่น ไปนอนทับมันหรือไปเหยียบโดนมันเข้า
แต่สารพวกนี้ก็มีปริมาณเพียงเล็กน้อย ไม่ได้ทำให้คนเป็นอันตรายอะไรมากนัก ยกเว้นคนที่มีอาการแพ้ ก็มีอาการมากหน่อย แต่สามารถให้แพทย์รักษาได้ หรือถ้าโดนปุ๊บ ก็ให้รีบล้างน้ำทันทีเพื่อลดอาการ ก่อนไปพบแพทย์
นอกจากนี้ กิ้งกือยังไม่สามารถที่กัดเรา ได้เหมือนกับพวกตะขาบที่มีเขี้ยว เพราะกิ้งกือเป็นสัตว์กลุ่มกินซาก ไม่ได้มีเขี้ยว มีแค่แผ่นฟันรูปร่างคล้ายช้อนตักไอศครีม สำหรับกัดแทะซากเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถกัดคนได้ ... อย่างมากถ้าโดนมันแทะ ก็จะรู้สึกจั๊กจี้ แค่นั้นเอง
ดังนั้น ในช่วงหน้าฝนนี้ ก็คอยระวังด้วยเวลาใส่รองเท้า เคาะดูเสียก่อนว่ามีสัตว์ต่างๆเข้าไปแอบซ่อนตัวอยู่หรือเปล่า ...
และอย่าไปกลัวกิ้งกือกันเกินเหตุ จนไปทำร้ายมันกันนะครับ เพราะมันเป็นสัตว์ที่มีประโยชน์อย่างมากต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศครับ