- 23 ม.ค. 2567
เจ้าของร้านดังเปิดประสบการณ์ ทำขนมเปี๊ยะขายช่วงโควิด จากรายได้วันละ 70,000 แต่เจ๊งใน 3 เดือน กูรูชี้พลาดตรงไหน
สาวเล่าทำขนมเปี๊ยะขาย โกย วันละ 70,000 แต่เจ๊งใน 3 เดือน : แน่นอนว่าการทำธุรกิจต่างๆ มักจะมีความเสี่ยงทั้งสิ้น ซึ่งอาจจะเกิดสาเหตุได้จากหลายๆ ปัจจัยทั้งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ต้นทุนสินค้า รวมไปถึงค่าเช่าที่ ที่ทุกคนต้องปรับตัวให้หนัก
แม้จะมีคนเข้ามาทำธุรกิจ แต่อีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องสุ้กับวิกฤตต่างๆ ไม่ไหว ก็ต้องหายจากไปเช่นกัน เช่นเดียวกันกับกรณีล่าสุด ที่มีคนมารีวิวการทำธุรกิจ ขายขนมเปี๊ยะ ช่วงแรกขายดีได้ถึงวันละ 70,000 บาท ก่อนที่จะเจ๊งภายใน 3 เดือน
โดยคนที่มาตั้งกระทู้นี้เป็นเจ้าของร้านเสริมสวยชื่อว่า เล็บสั้น สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ก่อนจะผันตัวมาเป็นแม่ค้าขายขนมเปี๊ยะ เธอได้ออกมาเผยว่า ก่อนหน้านี้เธอเปิดร้านทำเล็บ เสริมสวย สักคิ้ว จนกระทั่งปี 2563 ซึ่งตรงกับช่วงโควิด ทาง กทม. สั่งปิดร้านเสริมสวย ในช่วงเดือนแรกก็พอไหว
แต่ต่อไปเหมือนจะไม่รอด เธอจึงตัดสินใจเปิดร้านทำขนมเปี๊ยะเพื่อพยุงร้านให้รอด พาทั้งตนเองและเลี้ยงลูกน้องอีกหลายชีวิตฝ่าวิกฤต เมื่อทดลองสูตรได้สำเร็จก็นำออกขาย
เธอนำขนมเปี๊ยะไปขายตามตลาดนัด ตามตึก ในช่วงแรกๆ ก็อายเพราะไม่เคยขายของตลาดนัด และชอบมาเจอคนรู้จัก เขาก็ช่วยซื้อ จากนั้นขนมเปี๊ยะของเธอเริ่มเป็นที่รู้จัก คนพูดกันปากต่อปาก จนขายดีขึ้น และให้ลูกน้องที่ร้านเสริมสวยมาขายด้วยกัน
ลูกน้องแม้จะอายที่มาขายของร้านตลาดนัด แต่ก็ยังอุตส่าห์มาช่วยขายของเพื่อรอเวลากลับไปเปิดร้านเสริมสวยอีกครั้ง ซึ่งจากนั้นสถานการณ์โควิดยังไม่จบ เธอก็เริ่มเพิ่มสินค้า ทำขนมเปี๊ยะลาวา ขนมเปี๊ยะเจ ทำขนมเปี๊ยะไส้ต่างๆ จนทำให้ขายดีมาก รายได้ถึงวันละ 20,000 - 70,000 บาท
จนทำกันไม่หลับไม่นอน โหมซื้ออุปกรณ์มาเพิ่มเพราะคิดว่าคราวนี้รวยแน่ ลูกน้องก็เปลี่ยนจากช่างทำเล็บ ช่างต่อขนตา มาขายของหมด และเธอยังได้ไปออกบูธตามห้างสรรพสินค้า ยิ่งทำให้ขายดีเทน้ำเทท่าเข้าไปอีก
แต่หลังจากนั้นเหมือนสิ่งที่เธอวาดฝันไว้จะทลายลงไปหมดสิ้น ส่วนหนึ่งเพราะขนมเปี๊ยะของเธอมีราคาค่อนข้างสูงถึงกล่องละ 95 บาท และสิ่งที่เธอลืมคิดไป เหตุที่ขายดีในตอนนั้น เพราะมีโครงการคนละครึ่ง พอหมดโครงการ รายได้เหลือวันละ 15,000 บาท ค่าเช่าบูธแต่ละที่ก็วันละ 3,000 - 7,500 บาท
และถ้าราคาเต็มจริงๆ จะขายไม่ได้ ทำให้จากที่ไปออกบูธตามห้างหลายที่ ก็เหลือแค่ 2 ที่ คือ ที่ไอคอนสยาม วันละ 3,000 บาท และเซ็นทรัลพระราม 2 วันละ 2,800 บาท ค่าแรงคนขายวันละ 1,000 บาท แต่ขายได้ 2 ที่รวมกันแค่ 20,000 บาท ไม่รวมต้นทุนทำขนม และหากขนมขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง
ในขณะที่ค่าเช่าที่อย่างเดียวรวมค่าลูกน้องก็เกือบหมื่น ส่วนการเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์นั้น เธอก็นำขนมไปขายทางออนไลน์เช่นกัน ทุกแอปพลิเคชัน แต่ขายได้ไม่ทุกวัน เพราะขนมไม่ใส่สารกันบูด
เรื่องนี้ทำให้เธอได้ประสบการณ์ในการคำนวณต้นทุน ซึ่งต้องมีกำไรอย่างน้อย 60% เนื่องจากแป้ง น้ำมันพืช ขึ้นราคาเรื่อยๆ แต่ราคาขนมจะขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้ และยังมีค่าลูกน้องและค่าแรงตัวเองอีก
กระทั่งสุดท้าย เธอทนขาดทุนได้ 3 เดือน ก็ตัดสินใจปิดกิจการลง แต่ที่ยังเหลือคืออุปกรณ์ทำขนมที่ใหม่มาก ใช้ได้ไม่ถึง 2 ปี และสูตรทำขนม หลังจากนั้น เธอก็กลับมาทำร้านเสริมสวยเหมือนเดิม แต่ปรากฏว่าลูกน้องออกไป 3 คนเพราะเธอไปบังคับให้ลูกน้องมาขายขนม ดังนั้น ไม่ว่าร้านหรือธุรกิจจะเล็กหรือใหญ่ ต้องอย่าลืมสื่อสารกันด้วย
หลังจากที่เธอได้ออกมาแชร์ประสบการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็มีคนมาให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง และมองว่านี่คือประสบการณ์ชีวิตที่ล้ำค่า เพราะขนมกับร้านเสริมสวยคือคนละตัว คนละอาชีพ ถือเป็นการเรียนรู้ ในขณะที่บางคนก็บอกว่า ค่าเช่าที่ค่อนข้างแพงเกินไปสำหรับการขายของ ซึ่งเธอก็มาตอบว่าในตอนนั้นแค่วันละ 2,800 - 3,500 บาท แต่ในตอนนี้ค่าเช่าที่ตามห้างคือขึ้นไปถึงวันละ 3,500 บาทแล้ว
อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายๆ คอมเมนต์ซึ่งเป็นคนในแวดวงการทำร้านอาหารก็มาบอกถึงเคล็ดลับการไปให้รอดในธุรกิจนี้อาทิ ถ้าค่าเช่าสูง ตั้งราคา 3 เท่าไม่พอ ต้องตั้งราคา 3 - 3.5 เท่า โดยคูณราคาคละเมนูกันไป บ้างก็บอกว่า ยิ่งเมนูเยอะ ยิ่งได้กำไรยาก ถ้าเป็นร้านเล็กๆ ไม่ควรมีเมนูเกิน 10 - 12 อย่าง เน้นแค่ทำตัวที่อร่อยที่สุดและขายดีจริง