- 10 เม.ย. 2567
เปิดเงื่อนไข เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000บาท เช็กสิทธิ์เบื้องต้นใครได้ -ไม่ได้? กำหนดจ่ายถึงมือประชาชนเมื่อไร จ่ายก้อนเดียวรอบเดียว ใช้แหล่งเงินงบประมาณปี 67-68
10 เม.ย.67 ความคืบหน้า เงินดิจิทัล10,000 บาท ล่าสุด นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ครั้งที่ 3/2567 ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล โดย นายกรัฐมนตรี ยืนยัน เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท จะถึงมือประชาชนในไตรมาสที่ 4 ปี2567 นี้
นายเศรษฐา ทวีสิน ระบุว่า โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ ถือว่าเป็นไปตามสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนยืนยันเป็นไปตามกฎหมายและวินัยการเงินการคลังทุกประกาศ โดยร้านค้าจะลงทะเบียนได้ในไตรมาส 3 และจะส่งถึงประชาชนไตรมาส 4 ปีนี้ พร้อมยืนยันส่งผลกับเศรษฐกิจร้อยละ 1.2 - 1.6
หากจะมีผิดหวังในเรื่องของระยะเวลาที่สัญญาไว้ว่าโครงการนี้จะเริ่มในช่วงต้นปีแต่เลยมาถึงในช่วงปลายปี แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและวินัยการเงินการคลัง และให้เงินถึงประชาชนอย่างแท้จริง
- เงื่อนไข แจกเงินดิจิทัล โครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ล่าสุด
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง เปิดเผยว่า กำหนด กลุ่มเป้าหมาย ประชาชนจำนวนประมาณ 50 ล้านคน เงื่อนไขดังนี้
1.คนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ( ณ เดือนที่ลงทะเบียน)
2.เงินเดือนไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน ( รวมปีละไม่เกิน 8.4แสนบาท)
3.เงินฝากรวมทุกบัญชีไม่เกิน 500,000 บาท
เปิดให้ลงทะเบียนเงินดิจิทัลวอลเล็ต ในไตรมาสที่3 และจะแจกเงิน 10000 บาทก้อนเดียว รอบเดียว ถึงมือประชาชนในไตรมาสที่4 ปี 2567 นี้ จะใช้งบประมาณ วงเงินจำนวน 500,000 ล้านบาท ถูกต้องตามที่กฎหมายและกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนด
- แหล่งเงินงบประมาณดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้านบาท มาจาก 3 แหล่ง คือ
1.งบประมาณปี 67 จำนวน 1.72 แสนล้านบาท
2.งบประมาณปี 68 จำนวน 1.52 แสนล้านบาท
3.กู้เงิน ธ.ก.ส. จำนวน 1.75 แสนล้านบาท
- เงื่อนไขการใช้จ่าย เงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท ... สินค้าประเภทใดใช้จ่ายผ่านโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 ได้บ้าง ?
กรณี ประชาชน-ร้านค้าสามารถใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ กระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กำหนด โดยสามารถใช้ได้กับสินค้าทุกประเภท ยกเว้น สินค้าอบายมุข น้ำมัน บริการ ออนไลน์
1.ระหว่างประชาชนกับร้านค้า ใช้จ่ายเชิงพื้นที่ในระดับอำเภอ (878 อำเภอ) โดยกำหนดให้ใช้จ่ายกับร้านค้าขนาดเล็กที่ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนดเท่านั้น
2.ระหว่างร้านค้ากับร้านค้า ไม่กำหนดเงื่อนไขการใช้จ่ายเชิงพื้นที่ระหว่างร้านค้ากับร้านค้าในระดับอำเภอและขนาดของร้านค้า การใช้จ่ายเงินสามารถใช้จ่ายได้หลายรอบ โดยรอบที่ 1 จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างประชาชนกับร้านค้าขนาดเล็กเท่านั้น ตามกระทรวงพาณิชย์กำหนด ตั้งแต่รอบที่ 2 ขึ้นไป จะเป็นการใช้จ่ายระหว่างร้านค้ากับร้านค้าโดยไม่จำกัดขนาดร้านค้า
- ข้อกำหนดเพิ่มเติม เงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท
กระทรวงพาณิชย์จะกำหนดเพิ่มเติม ส่วนคุณสมบัติร้านค้าที่สามารถถอนเงินสดจากโครงการฯ ต้องเป็นร้านค้าที่อยู่ในระบบภาษี ดังนี้
1. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax: VAT)
หรือ 2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (Personal Income Tax: PIT) เฉพาะผู้มีเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (8) แห่งประมวลรัษฎากร
หรือ 3. ภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Income Tax: CIT) ทั้งนี้ ร้านค้าไม่สามารถถอนเงินสดได้ทันทีหลังประชาชนใช้จ่าย แต่ร้านค้าจะสามารถถอนเงินสดได้เมื่อมีการใช้จ่ายตั้งแต่ในรอบที่ 2 เป็นต้นไป
- การจัดทำระบบดิจิทัลวอลเล็ต
พัฒนาต่อยอดของรัฐบาลดิจิทัลโดยสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมีเป้าหมายให้เป็น Super App ของรัฐบาล โดยการใช้งานจะพัฒนาให้สามารถใช้จ่ายได้กับธนาคารอื่นๆ ในลักษณะ open loop ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดทำของภาครัฐ รัฐบาล จะดำเนินโครงการฯ ให้เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ตามกฎหมาย