- 24 เม.ย. 2567
ตำรวจสอบสวนกลาง บุกทลายแหล่งผลิตนมขวดหลากสี-น้ำผลไม้ ไร้เลข อย. แทบอ้วกคนขายกรอกใส่ขวดเองกับมือ ที่จังหวัดนครปฐม
วันที่ 24 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และเจ้าหน้าที่ กก.4 บก.ปคบ. ปฏิบัติการเข้าตรวจค้นแหล่งผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนม โดยไม่มีเลขสารบบอาหาร ในพื้นที่ ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม
สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ได้มีมาตรการเชิงรุกติดตามเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์อาหารที่ผลิตโดยไม่มีมาตฐาน ไม่ถูกสุขลักษณะ และไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.) ประกอบกับได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนให้ทำการตรวจสอบการจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนม ยี่ห้อ PON PON ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์
เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงทำการสืบสวนพบว่า มีการโฆษณาจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรสนมยี่ห้อดังกล่าวผ่านติ๊กต็อก และเฟซบุ๊ก โดยมีการโฆษณาขายเป็นภาษากัมพูชา และเมื่อตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวพบว่า มีการนำเลขสารบบอาหารของผลิตภัณฑ์อื่นมาใช้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ จึงลงพื้นที่สืบสวนจนทราบถึงแหล่งผลิต และจัดเก็บ
ต่อมาวันที่ 23 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้นำหมายค้นศาลแขวงนครปฐม เข้าทำการตรวจค้น บ้านพักแห่งหนึ่ง ต.นครปฐม อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม ตรวจยึดฉลาก ฝาปิด บรรจุภัณฑ์ และผลิตภัณฑ์ที่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ยี่ห้อต่างๆ ดังนี้
1.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสแคนตารูป
2.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมข้าวโพด
3.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสนมเย็น
4.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ COWS S.CHAOKHAO รสกาแฟ
5.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสกาแฟ
6.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ PON PON รสชานม
7.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเผือก
8.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสนมเย็น
9.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสข้าวโพด
10.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสแคนตารูป
11.ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อ Fresh Milk รสเต้าฮวย
12.ผลิตภัณฑ์น้ำส้ม Orange
13.ผลิตภัณฑ์ลูกตาลลอยแก้วแม่กิมไน้
การตรวจค้นครั้งนี้พบว่า โรงงานดังกล่าวใช้แรงงานมนุษย์ในการผลิต โดยไม่มีการสวมถุงมือ เพื่อรักษาความสะอาดแต่อย่างใด และพบว่า โรงงานดังกล่าวอาศัยการผลิตผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มนมยี่ห้อต่างๆ ตามกระแสตลาด ที่ไม่ได้มาตรฐานส่งขายให้ลูกค้าตามพื้นที่แถบชายแดนในพื้นที่ จ.จันทบุรี และประเทศกัมพูชา โดยทำมาแล้วเป็นเวลา 5 ปี
ทั้งนี้ได้เก็บตัวอย่างอาหารเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์ ณ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หากพบสารต้องห้ามในอาหารเพิ่มเติม จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ฐาน“ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522
1.ฐาน “ผลิต และจำหน่ายอาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท
2.กรณีการนำเลขสารบบอาหารอื่นมาใช้จะเป็นความผิดฐาน “ผลิต และจำหน่ายอาหารปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน – 10 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-100,000 บาท
พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. ฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค ก่อนซื้อควรตรวจสอบเลขสารบบอาหาร(อย.) ว่าได้รับอนุญาตถูกต้องหรือไม่
และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือเพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา