กสทช. ลงดาบ โหนกระแส สั่งช่อง 3 ระงับออกอากาศ 1 วัน พร้อมเหตุผล

กสทช. ออกคำสั่งให้ช่อง 3 ระงับออกอากาศรายการโหนกระแส 1 วัน แก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ กลั่นกรองเนื้อหารายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพจริยธรรม

วันที่ 27 พ.ค. กสทช. ออกคำสั่งให้ช่อง 3 ระงับออกอากาศรายการโหนกระแส  1 วัน แก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ กลั่นกรองเนื้อหารายการ ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพจริยธรรม หลังถูกร้องเรียนหลายเทป เผยเคยแจ้งเตือนไปแล้ว ไม่พอใจฟ้องศาลปค.โต้แย้งได้ คนในแจ้ง พักจอ 7 มิ.ย.67 นี้

 

กสทช. ลงดาบ โหนกระแส สั่งช่อง 3 ระงับออกอากาศ 1 วัน พร้อมเหตุผล

 


 

การสั่งระงับออกอากาศรายการ "โหนกระแส" เป็นระยะเวลา 1 วัน ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือน เม.ย.2566 กสทช.เคยมีมติแจ้งให้ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด แก้ไขปรับปรุงกระบวนการกำกับดูแล ตรวจสอบ กลั่นกรองเนื้อหารายการมาแล้ว จากปัญหาการออกอากาศรายการ ในหัวข้อ "ก็มาดิคะ แพร์รี่พร้อมบวก ลั่นสึกแล้วยังจะมีมารผจญ” และรายการในหัวข้อ “ศรี ตกลงทนได้ไหม” และ หัวข้อ "ทีนี้ก็ว้าวุ้นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบ อีกด้านโต้ก็มึงตบแม่กูก่อน” ซึ่งมีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่วง 3 เอชดี ตามประกาศหลักเกณฑ์การอนุญาตให้บริการกระจายเสียงฯ พ.ศ. 2555 ข้อ 14 (10) ที่กำหนดให้บริษัทฯ จะต้องดำเนินการคัดเลือก จัดหา กำกับดูแลรายการ เนื้อหารายการใด ๆ ที่ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพและจริยธรรมของสื่อ

โดยรายการ โหนกระแส หัวข้อ "ศรี ตกลงทนได้ไหม" และ "ทีนี้ก็ว้าวุ้นเลย ตบสนั่นตลาด! สาวท้อง 6 เดือนโดนตบ อีกด้านโต้ก็มึงตบแม่กูก่อน” มติ กสทช. ระบุว่ามีการนำเสนอเนื้อหาในลักษณะที่จะสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในสังคมจนอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง มีการละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์สิทธิ์ และเสรีภาพของบุคคลอื่น ตลอดจนอาจก่อให้เกิดความเกลียดชังซึ่งกันและกันของกลุ่มคนต่าง ๆ ในสังคมรวมทั้งมีการเปิดโอกาสให้แหล่งข่าวกล่าวร้ายหรือพาดพิงบุคคลอื่น ยั่วยุ บริภาษ ด้วยการใช้ภาษาหยาบคายรุนแรง ดูถูก เหยียดหยามบุคคลอื่นในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ หรือลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นซึ่งเป็นจริยธรรมแห่งวิชาชีพ

ส่วนรายการหัวข้อ "ก็มาดิคะ แพร์รี่พร้อมบวก ลั่นสึกแล้วยังจะมีมารผจญ” กสทช.ระบุว่า จะต้องควบคุมสถานการณ์และเนื้อหารายการ ไม่ให้เกิดการสื่อสารที่สร้างความเกลียดชัง ยั่วยุ บริภาษ ด้วยการใช้ภาษา หยาบคาย รุนแรง ดูถูก เหยียดหยามบุคคลอื่นในเชิงลดคุณค่า ทำให้มีความหมายเชิงลบ หรือลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น หลีกเลี่ยงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ไม่เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพสื่อสารมวลชนและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด