- 31 พ.ค. 2567
กรมการแพทย์ แจ้งเตือนพระภิกษุสามเณรเสี่ยงอาพาธด้วย โรคร้ายที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ทั้งโรคปอด โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง ฯลฯ
นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า “บุหรี่” หรือ “ยาสูบ” เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พระภิกษุสามเณรรวมถึงประชาชนทั่วไปต้องเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงประกาศให้ภาวะติดบุหรี่เป็น “โรคเรื้อรัง” ซึ่งไม่ต่างอะไรจากโรคเรื้อรังทั่วไป เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และมีหลักฐานทางการแพทย์ที่บ่งชี้ชัดเจนว่าการสูบบุหรี่เป็นการเสพติดอย่างแท้จริง
ผู้เสพมักเลิกสูบได้เพียงระยะหนึ่งแล้วจะกลับมาสูบใหม่และในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดในกลุ่มของวัยรุ่น รวมไปถึงเด็กในช่วงวัยเรียนที่ได้รับอิทธิพลของการปรับปรุงรูปลักษณ์ผลิตภัณฑ์ทั้งกลิ่น รสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าที่กระตุ้นความอยากรู้อยากลองในเด็กที่ขาดการไตร่ตรองอย่างเหมาะสมและอาจเผลอทดลองด้วยความคึกคะนอง จนส่งผลทำให้เสพติดและเกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา ซึ่งมีแนวโน้มและมีนัยสำคัญที่จะทำให้เด็กกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพเกี่ยวกับระบบการหายใจ ไอ และเหนื่อยง่าย รวมถึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ โรคมะเร็งปอด โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็งตัว จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคความดันโลหิตสูง โรคระบบประสาทและสมอง เป็นต้น ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากโทษของสารเสพติดที่อยู่ในบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อสุขภาพที่ดีของพระภิกษุสามเณร โรงพยาบาลสงฆ์จึงขอรณรงค์ให้พระภิกษุสามเณรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการลด ละและเลิกสูบบุหรี่ในที่สุด
ด้านนายแพทย์อภิชัย สิรกุลจิรา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลสงฆ์ตระหนักถึงพิษภัยจากการสูบบุหรี่ที่ส่งผลต่อสุขภาพของพระภิกษุสามเณร จึงได้มีการจัดตั้งคลินิกเลิกสูบบุหรี่ขึ้นภายในโรงพยาบาลตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา โดยมีเป้าหมายคือต้องไม่มีพระภิกษุสามเณรสูบบุหรี่ ซึ่งได้บูรณาการการรักษาจากสหสาขาวิชาชีพ รวมถึงดำเนินการเชิงรุกต่างๆ เช่น จัดนิทรรศการรณรงค์เลิกสูบบุหรี่ กิจกรรมถวายความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ในการออกหน่วยตรวจคัดกรองสุขภาพที่วัดและในวัดที่มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม เพื่อป้องกันนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ของกระทรวงสาธารณสุขกำหนดให้มีการคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ตามประกาศกระทรวง ในสถานที่ราชการทุกแห่งต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% และเป็นสถานที่ให้การรักษา ผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยโรงพยาบาลสงฆ์เป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% และมีการรณรงค์ให้พระภิกษุสามเณรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการหยุดสูบตลอดมา จนได้รับรางวัล “หิรัญนครา” ซึ่งเป็นรางวัลโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ดีเด่นในโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง จากเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบ
ของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยฯ ในงานมหกรรมวิชาการฟ้าใส ประจำปี 2567 อีกทั้งโรงพยาบาลสงฆ์ยังเปิดให้บริการคลินิกเลิกบุหรี่ โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่บุคลากรทางการแพทย์อยู่ประจำเพื่อให้คำแนะนำปรึกษาการเลิกบุหรี่ให้กับพระภิกษุสามเณร ทุกวันจันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.00 – 16.00 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โรงพยาบาลสงฆ์ โทรศัพท์ 0 2640 9537 ต่อ 5106