- 01 มิ.ย. 2567
หมอธีระ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเผย ผลการติดตามประเมิน 3 ปี Long COVID
หมอธีระ นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความระบุ
Long COVID: ผลการติดตามประเมิน 3 ปี
ทีมงานจากสหรัฐอเมริกาเผยแพร่ผลการติดตามประเมินผู้ป่วยที่เป็น Long COVID หลังจากเกิดการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งแบบที่ไม่รุนแรง (non-hospitalized) และแบบที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล (hospitalized) รวมจำนวนถึง 135,161 คน เปรียบเทียบกับกลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5,206,835 คน
ติดตามประเมินยาวนานถึง 3 ปี เพื่อดูว่าปัญหาอาการผิดปกติของ Long COVID นั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง
สาระสำคัญมีดังนี้
ในกลุ่มที่เป็น Long COVID นั้นส่วนใหญ่ราว 90% ประสบปัญหาหลังจากที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยอาการไม่รุนแรง
กลุ่มผู้ป่วย Long COVID นั้นจะมีอัตราตายส่วนเกินจากทุกสาเหตุ สูงกว่ากลุ่มประชากรที่ไม่ได้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ทั้งนี้ กลุ่มที่ป่วยไม่รุนแรง มีอัตราตายส่วนเกินสูงกว่ากลุ่มควบคุมในช่วงปีแรก ในขณะที่กลุ่มที่ป่วยจนต้องนอนรพ.นั้นจะมีอัตราตายส่วนเกินสูงกว่ากลุ่มควบคุมตลอด 3 ปีที่มีการติดตามประเมินผล
ความเสี่ยงในการเกิดอาการผิดปกติของ Long COVID ขึ้นภายหลังที่ติดเชื้อโควิด-19 นั้นจะสูงสุดในช่วงปีแรกหลังติดเชื้อ จากนั้นจะลดลงตามลำดับ
เมื่อติดตามไปถึงปีที่ 3 พบว่า อาการผิดปกติของ Long COVID ในกลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแบบไม่รุนแรงนั้น มักอยู่ในกลุ่มอาการด้านระบบประสาท/สมอง ทางเดินหายใจ และระบบทางเดินอาหาร
ในขณะที่ในกลุ่มที่ติดเชื้อป่วยจนต้องนอนรักษาตัวในรพ.นั้น อาการผิดปกติในช่วงปีที่ 3 ที่ยังคงอยู่นั้น มีหลากหลายระบบมากกว่ากลุ่มที่ป่วยไม่รุนแรง ได้แก่ ระบบหัวใจและหลอดเลือด สมอง/ระบบประสาท ปัญหาจิตเวช การแข็งตัวของเลือด ไต ทางเดินหายใจ อ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า ทางเดินอาหาร เป็นต้น
อาการผิดปกติต่างๆ ข้างต้น ทำให้บั่นทอนสุขภาพ คุณภาพชีวิต และนำไปสู่ความสูญเสียตามมาทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม
การป้องกันตัวระหว่างใช้ชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดเสี่ยงติดเชื้อ และป้องกันปัญหา Long COVID ได้
ดีกว่าจะทุกข์ใจ และปวดหัวหาทางแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดขึ้นภายหลัง
อ้างอิง
Three-year outcomes of post-acute sequelae of COVID-19. Nature Medicine. 30 May 2024.