- 12 มิ.ย. 2567
อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์ถึงการ "อบซาวน่า" อบไอน้ำ ที่ถูกต้อง
อ.เจษฎ์ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
"อย่าอบซาวน่า อบไอน้ำ นานเกินไป .. อันตรายถึงแก่ชีวิต"
เมื่อวานมีข่าวน่าเศร้า มีคุณป้าท่านหนึ่งวัยประมาณ 70 ปี ได้เสียชีวิต ขณะไปใช้บริการห้องอบไอน้ำ (stream) ของฟิตเนสแห่งหนึ่ง แม้ว่าจะไม่มีโรคประจำตัวและเคยมาใช้บริการหลายครั้งแล้ว โดยพนักงานของฟิตเนสมาพบว่า หมดสติอยู่ในห้องและเสียชีวิต ซึ่งผลการตรวจสอบสภาพศพเบื้องต้น แพทย์ระบุว่า ถูกความร้อนในห้องอบนาน 5-6 ชั่วโมง ! (ดูลิงค์ข่าว ในคอมเม้นต์ด้านล่าง)
ห้องที่เกิดเหตุเป็นห้องอบไอน้ำ ขนาดห้องรองรับผู้ใช้บริการได้ 4-5 คน แต่ขณะเกิดเหตุ ผู้เสียชีวิตอยู่ในห้องเพียงคนเดียวและปิดประตูกระจกไว้ (ห้องไม่มีการล็อก) ซึ่งห้องอบไอน้ำนี้ มีเครื่องผลิตไอน้ำอยู่ด้านนอก แล้วปล่อยไอน้ำเข้ามาบริเวณใต้ที่นั่ง ที่เป็นปูนซีเมนต์ปูกระเบื้อง มีระบบควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ที่ 45 องศาเซลเซียส มีป้ายแนะนำให้ใช้บริการ 5-10 นาที (ดูรูปประกอบ)
การอบไอน้ำและการอบซาวน่า
ข้อมูลจากกรมอนามัย ก.สาธารณสุข (ลิงค์ในคอมเม้นต์) ระบุว่ามีหลายคนที่นิยมไปอบไอน้ำ (อบความร้อนแบบเปียก จากไอน้ำร้อนที่พ่นเข้าในห้อง) และอบซาวน่า (อบความร้อนแบบแห้ง จากก้อนหินเผาไฟ หรือจากตู้อินฟราเรดให้ความร้อน) เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย ด้วยการขยายรูขุมขนและเส้นเลือดที่ผิวหนัง ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกล้ามเนื้อร่างกายสะดวกขึ้น , กล้ามเนื้อขยายตัวจากความร้อน ช่วยกำจัดกรดแลกติกที่ค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ , เร่งการขับของเสีย ออกทางเหงื่อ , นอกจากนี้ การไปอาบน้ำเย็นต่อหลังจากการอบด้วยความร้อน ก็จะทำให้หลอดเลือดหดตัว จะเป็นการบีบไล่ของเสียที่ยังค้างอยู่ในกล้ามเนื้อ ให้ออกไปเร็วขึ้น เป็นการผ่อนคลายความเครียดของกล้ามเนื้อ
ส่วนการเลือกว่าจะอบไอน้ำ หรืออบซาวน่า ขึ้นอยู่กับความรู้สึกสบายตัวตามลักษณะของ "ความร้อน" และ "ความชื้นสัมพัทธ์" ที่การอบแต่ละแบบจะใช้ และนำไปสู่ "ช่วงเวลาที่เหมาะสม" ว่าจะนั่งอบอยู่ช้านานเท่าไหร่ จึงจะไม่อึดอัดตัว
อย่างเช่น ถ้าเป็นการอบซาวน่า ในห้องนั้นจะมีความชื้นต่ำ มีไอน้ำ (ซึ่งเป็นตัวนำความร้อนมากระทบผิวกาย) ไม่มากนัก คนเราจะรับรู้ความร้อนได้ช้า และจะนั่งอยู่ได้นาน เหงื่อจะระเหยจากผิวกายได้สะดวก เกิดการระบายความร้อนได้เร็ว เราจึงรู้สึกสบาย ไม่อึดอัด
ในขณะที่ ถ้าเราไปนั่งในห้องอบไอน้ำ ที่มีความชื้นสูง แม้อุณหภูมิจะสูงไม่มากเท่ากับห้องอบซาวน่า แต่ไอน้ำจะพาความร้อนมากระทบผิวกายได้รวดเร็ว เราจะรับรู้ความร้อนได้ในเวลาไม่นาน และเวลาที่ร่างกายของเราจะขับเหงื่อ แต่ความชื้นในห้องมีสูง การระเหยของเหงื่อจึงเป็นไปไม่สะดวก ความร้อนจะระบายจากร่างกายไม่เต็มที่ เราจะรู้สึกอึดอัด และนั่งอยู่ได้ไม่นานมากนัก
ด้วยเหตุนี้ ถ้าผู้ที่ใช้บริการห้องอบไอน้ำ ไปนั่งอยู่ในห้องซึ่งมีความร้อนสูง และมีความชื้นสูง เป็นเวลานาน ก็จะรู้สึกอึดอัดมาก และถ้านั่งอยู่นานเกินไป ก็อาจเกิดอันตรายกับเนื้อเยื่อหรือเอ็นไซม์ในเซลล์ร่างกายได้
อันตรายที่พบบ่อยจากการอบความร้อน
อันตรายที่พบบ่อยจากการอบไอน้ำและอบซาวน่า คือ อาการหน้ามืด เป็นลม หมดสติ อันตรายนี้เกิดขึ้นเนื่องจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ของทั้งผู้ประกอบการ และผู้รับบริการ กล่าวคือ มีความเข้าใจไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการอบไอน้ำ โดยคิดว่าถ้าอบเป็นระยะเวลานาน จะช่วยในการลดน้ำหนัก (ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะน้ำหนักที่ดูเหมือนว่าจะลดลง จริงๆ แล้ว ก็คือน้ำหนักของเหงื่อที่ระเหยออกไประหว่างที่อบ และก็กลับมาเหมือนเดิมหลังจากดื่มน้ำภายหลัง ไม่ใช่การเผาผลาญไขมันเหมือนกับการออกกำลังกาย)
ซึ่งผลที่ตามมาคือ การอยู่ในที่ร้อนเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เส้นเลือดขยายตัว เลือดส่วนใหญ่ไปรวมอยู่ตามแขนขา ทำให้เลือดส่วนกลางมีน้อยลง จึงหมุนเวียนไปสมองน้อยลง เกิดภาวะเป็นลม หน้ามืด หรือหมดสติได้ บางคนอาจสูญเสียการรับรู้สถานที่และความทรงจำไปช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากอบความร้อนนานจนเกินไป
ขั้นตอนการอบไอน้ำและอบซาวน่าที่เหมาะสม
1. สำหรับ #การอบไอน้ำ : ควรอาบน้ำก่อนอบ หรือประพรมน้ำที่ร่างกาย เพื่อปรับสภาพร่างกาย / ตรวจสอบอุณหภูมิของห้องอบไอน้ำ ให้อยู่ประมาณ 43 – 46 องศาเซลเซียส ถ้าร้อนเกินไป อาจไม่สบายตัว ถ้าเย็นเกินไป ก็จะไม่ได้รับผลดีเท่า / นั่งบนผ้าเช็ดตัวสะอาด ที่จัดไว้สำหรับแต่ละคน เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส / ควรใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ทำการอบครั้งละประมาณ 15 นาที ไม่ควรอบนาน ถ้าเริ่มรู้สึกอึดอัดหรือไม่สบาย ก็ต้องหยุด / เมื่อครบ 15 นาที ให้ออกมาพักข้างนอกตู้อบ (ถ้าต้องการอบต่อ ก็ต้องพักประมาณ 3-5 นาทีก่อน จึงเข้าไปอบใหม่ / เมื่อเสร็จแล้ว ต้องนั่งพักให้เหงื่อแห้ง ประมาณ 5-10 นาทีก่อน อย่าไปนั่งตากพัดลม หรืออาบน้ำทันที / ควรพักสักครึ่งชั่วโมง แล้วดื่มน้ำสัก 1 แก้ว โดยไม่ใส่น้ำแข็ง จากนั้นจึงค่อยอาบน้ำ จะทำให้ร่างกายสดชื่น
2. สำหรับ #การอบซาวน่า : ตั้งอุณหภูมิเผาหินในห้องอบซาวน่า ประมาณ 60 องศาเซลเซียส / ก่อนเข้าห้องอบ ควรอาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาด ต้องถอดเครื่องประดับให้หมด ทำให้ร่างกายเปียกชุ่มน้ำ แล้วเข้าอบตัวทันที นั่งบนม้านั่งที่จัดไว้ / ใช้เวลาในห้องอบแต่ละครั้ง อยู่ประมาณ 5 -15 นาที ขึ้นอยู่กับความต้องการและร่างกายของแต่ละบุคคล / เมื่อรู้สึกไม่สบาย ต้องออกจากห้องอบทันที / ไม่ควรอบไอร้อนเกินกว่าครั้งละ 15 นาที / หลังการอบแต่ละรอบ ให้นั่งพักเพื่อให้ร่างกายเย็นลง และสามารถดื่มน้ำหรือน้ำผลไม้ได้ แต่ไม่ควรรับประทานอาหารหนัก ๆ / ถ้าจะอบอีกรอบ ควรออกมาอาบน้ำเย็น หรือแช่ในอ่างอาบน้ำเย็นสักพัก แล้วค่อยเข้าห้องไปอบใหม่ / หลังออกเสร็จการอบแล้ว ควรนั่งพักผ่อนให้ร่างกายมีอุณหภูมิปกติ แล้วค่อยอาบน้ำให้ร่างกาย / ในการอบครั้งแรก อย่าราดน้ำลงบนหินร้อน เพราะการราดน้ำบนหินร้อน จะเพิ่มความร้อนใกล้ตัวมากขึ้น ถ้าต้องการให้ทำในการอบครั้งที่สอง
ข้อพึงระวังในการอบไอร้อน
1. เลือกเวลาที่เหมาะสม ควรทำหลังจากรับประทานอาหารแล้วอย่างน้อย 2 ชั่วโมง และถ้ากำลังอยู่ในระหว่างอดอาหาร ก็ไม่ควรจะอบ เพราะ
จะทำให้ร่างกายอ่อนเพลียจากการสูญเสียพลังมากเกินไป
2. อย่าเร่งรีบในการทำ ควรเตรียมเวลาไว้สำหรับกิจกรรมนี้มากสักหน่อย อย่างน้อยไม่ควรต่ำกว่า 1 ชั่วโมง เพราะหลังการอบไอร้อนแล้ว ควรจะต้องให้ร่างกายได้พักผ่อนต่อไปอีก อย่างน้อย 1/2 ชั่วโมง
3. หลีกเลี่ยงการอบไอร้อนในช่วงที่รู้สึกไม่สบาย
4. ผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ ความดันสูงหรือต่ำ โรคเบาหวาน ปัญหาของระบบทางเดินหายใจ ระบบไหลเวียนเลือด โรคลมบ้าหมู (epilepsy) อาการเกร็ง ชัก (seizures) หรือตั้งครรภ์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อน
บุคคลกลุ่มเสี่ยงที่ไม่ควรทำการอบความร้อน
โดยสรุป บุคคลที่พึงระวังสำหรับการอบไอน้ำและอบซาวน่า คือ 1. ผู้ป่วยโรคหัวใจ 2. ผู้ป่วยความดันเลือดสูง หรือมีภาวะความดันเลือดต่ำ 3. ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ และ 4. ผู้ที่กำลังเป็นไข้หรือเป็นหวัด
- หญิงมีครรภ์ : การอบร้อน จะทำให้เลือดไปกองตามแขนขา เลือดที่จะไปเลี้ยงส่วนกลางน้อยลง อาจทำให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกน้อยลงด้วย เคยมีรายงานที่พบว่าทารกผิดปกติของสมองและสันหลัง (anencephaly,spina bifida) ในแม่ที่อบซาวน่า (แต่ผู้หญิงชาวฟินแลนด์ ก็ยังคงอบซาวน่าเป็นประจำ โดยไม่พบความผิดปกติใดๆ)
- ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ โรคความดันเลือดสูง : การอบซาวน่า จะเพิ่มเลือดหมุนเวียนผ่านหัวใจร้อยละ 50-70 คล้ายๆ กับการเดินแบบเร็วๆ ส่วนความดันเลือดในระหว่างอบร้อนจะลดลงเล็กน้อย ครั้นเมื่อลงบ่อน้ำเย็น ความดันเลือดจะสูงขึ้นเล็กน้อย ซึ่งก็คล้ายกับการเดินเร็วๆ เช่นกัน จึงให้ความเห็นว่าซาวน่าเป็นข้อต้องระวังสำหรับคนที่เป็นโรคหัวใจ และโรคความดันที่รุนแรง
- ผู้ที่เป็นไมเกรน : การอบไอน้ำอาจไปขยายเส้นเลือด ทำให้มีอาการปวดไมเกรน หลังการอบได้
- ผู้ที่กำลังจะเป็นไข้หวัด : ร่างกายไม่ควรกระทบความเย็นจัด สามารถอบร้อนได้ แต่ไม่ควรลงบ่อน้ำเย็น
- การจัดห้องซาวน่า : ต้องดูแลให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และอย่าอยู่ในตู้อบนานเกิน 5 นาที จนอาจเกิดภาวะขาดออกซิเจน ซึ่งภาวะขาดออกซิเจนเฉียบพลัน จะเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้
- นอกจากนี้ บุคคลกลุ่มเสี่ยงยังรวมถึง 1. ผู้ที่มีไข้สูง เพราะอาจมีการติดเชื้อโรคต่างๆ 2. ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง 3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว คือ โรคไต โรคปอด โรคลมบ้าหมู ตกเลือด ท้องเสียอย่างรุนแรง 4. สตรีขณะมีประจำเดือน 5. ผู้ที่มีอาการอักเสบจากบาดแผลเปิดและปิด 6. ผู้ที่อ่อนเพลีย อดอาหาร อดนอน หรือพึ่งรับประทานอาหารมาใหม่ๆ 7. ปวดศีรษะ ชนิดวิงเวียนศีรษะและคลื่นไส้
ที่สำคัญคือ แม้ว่าจะเป็นคนที่สุขภาพแข็งแรงดี แต่ถ้าในขณะอบ เกิดรู้สึกแน่นอึดอัดหายใจไม่สะดวก ก็ควรหยุดทันที และไม่ควรอบนานเกินไปกว่าที่แนะนำ เพราะร่างกายจะเสียน้ำและเกลือแร่ออกทางเหงื่อมากเกินไป เป็นอันตรายได้