ปภ.เตือนด่วน 43 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23 – 26 มิ.ย.67

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประกาศเตือนด่วน 43 จังหวัดทั่วประเทศ ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23 – 26 มิ.ย. 2567

วันที่ 23 มิ.ย. 2567 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 43 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์ท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 23 – 26 มิ.ย. 2567 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องจักรกลสาธารณภัย ให้สามารถเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น 

 

ปภ.เตือนด่วน 43 จังหวัด ระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก 23 – 26 มิ.ย.67

โดย นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 3 (117/2567) ลงวันที่ 22 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า ประเทศไทยมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันมีกำลังค่อนข้างแรง โดยบริเวณทะเลอันดามันมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร โดยมีพื้นที่แจ้งเตือนสถานการณ์ระหว่างวันที่ 23 – 26 มิถุนายน 2567 ดังนี้

 

  • พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง


ภาคเหนือ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.เมืองฯ ปาย ขุนยวม แม่ลาน้อย แม่สะเรียง สบเมย) เชียงใหม่ (อ.ฝาง ฮอด อมก๋อย จอมทอง แม่อาย เชียงดาว สะเมิง แม่วาง แม่ริม แม่แตง) เชียงราย (อ.เมืองฯ พาน เทิง เวียงป่าเป้า แม่สาย เชียงแสน แม่จัน แม่สรวย แม่ฟ้าหลวง) ลำพูน (อ.เมืองฯ แม่ทา บ้านโฮ่ง ลี้ ทุ่งหัวช้าง) ลำปาง (อ.เมืองฯ แจ้ห่ม งาว วังเหนือ เมืองปาน เถิน เกาะคา แม่พริก) พะเยา (อ.ปง เชียงคำ จุน ภูกามยาว) แพร่ (อ.เมืองฯ สอง สูงเม่น วังชิ้น ร้องกวาง ลอง เด่นชัย) น่าน (อ.เมืองฯ แม่จริม ปัว บ่อเกลือ เชียงกลาง ทุ่งช้าง ท่าวังผา สองแคว เฉลิมพระเกียรติ) อุตรดิตถ์ (อ.เมืองฯ ฟากท่า ท่าปลา น้ำปาด ลับแล) ตาก (อ.เมืองฯ ท่าสองยาง สามเงา แม่ระมาด แม่สอด พบพระ อุ้มผาง) และพิษณุโลก (อ.วังทอง เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ วัดโบสถ์)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 14 จังหวัด ได้แก่จังหวัดเลย (อ.นาแห้ว ด่านซ้าย ภูเรือ ท่าลี่ เชียงคาน) หนองคาย (อ.เมืองฯ โพนพิสัย) บึงกาฬ (อ.เซกา) หนองบัวลำภู (อ.สุวรรณคูหา) อุดรธานี (อ.เมืองฯ ศรีธาตุ เพ็ญ วังสามหมอ กุดจับ พิบูลย์รักษ์ นายูง น้ำโสม) สกลนคร (อ.เมืองฯ ภูพาน สว่างแดนดิน) นครพนม (อ.เมืองฯ ศรีสงคราม) กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด ฆ้องชัย มุกดาหาร (อ.เมืองฯ ดงหลวง หว้านใหญ่ หนองสูง) ร้อยเอ็ด (อ.เมืองฯ เสลภูมิ จังหาร เชียงขวัญ ยโสธร (อ.เมืองฯ เลิงนกทา ค้อวัง มหาชนะชัย คำเขื่อนแก้ว ป่าติ้ว) อำนาจเจริญ (อ.เมืองฯ ชานุมาน) นครราชสีมา (อ.ปากช่อง สีคิ้ว วังน้ำเขียว ปักธงชัย) บุรีรัมย์ (อ.เมืองฯ) สุรินทร์ (อ.เมืองฯ ปราสาท พนมดงรัก) ศรีสะเกษ (อ.ขุนหาญ) และอุบลราชธานี (อ.เมืองฯ บุณฑริก น้ำยืน นาจะหลวย น้ำขุ่น วารินชำราบ เดชอุดม นาเยีย)


ภาคกลาง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี ไทรโยค ด่านมะขามเตี๋ย บ่อพลอย) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา นครนายก (อเมืองฯ ป่ากพลี ปราจีนบุรี (อ.ประจันตคาม นาดี) ฉะเชิงเทรา (อ.สนามชัยเขต ท่าตะเกียบ) ชลบุรี (อ.เมืองฯ บางละมุง ศรีราชา) ระยอง (อ.เมืองฯ แกลง บ้านค่าย ปลวกแดง) จันทบุรี (อ.เมืองฯ มะขาม ขลุง โป่งน้ำร้อน) และตราด (ทุกอำเภอ)

 

  • พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง

ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดระนอง (อ.เมืองฯ สุขสำราญ กะเปอร์) พังงา (อ.เกาะยาว ตะกั่วทุ่ง ท้ายเหมือง ตะกั่วป่า คุระบุรี) ภูเก็ต (ทุกอำเภอ) กระบี่ (อ.เมืองฯ คลองท่อม เกาะลันตา เหนือคลอง อ่าวลึก) ตรัง (อ.กันตัง สิเกา ปะเหลียน หาดสำราญ) และสตูล (อ.เมืองฯ ทุ่งหว้า ละงู ท่าแพ)


กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 43 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในแต่ละพื้นที่ พื้นที่เสี่ยงฝนตกหนัก และพื้นที่ที่มีปริมาณฝนสะสมสูง รวมถึงเตรียมความพร้อมของเครื่องจักรกลสาธารณภัย รถปฏิบัติการ และเจ้าหน้าที่ชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) ให้พร้อมเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที

สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักและมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าวตลอด 24 ชั่วโมง


สำหรับพื้นที่ที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง ให้พิจารณาออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมกันนี้ ให้ประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ เพื่อแจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด

 

นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น