- 08 ก.ค. 2567
ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช โพสต์ข้อความ ระบุเตือนชัด ประเด็น แม่สามเณร รูปหนึ่ง ขอรับบริจาค สร้างสถานปฏิบัติธรรม การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่?
ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช ได้ออกมาโพสต์ข้อความถึงกรณี แม่สามเณรรูปหนึ่ง และการรับบริจาค ระบุว่า
การขอรับบริจาค ผิดกฎหมาย หรือไม่ ?
มีแม่สามเณร รูปหนึ่ง ขอรับบริจาค สร้างสถานปฏิบัติธรรม การกระทำดังกล่าวผิดกฎหมายหรือไม่ ?
มีหลักกฎหมายให้พิจารณาอยู่หลายเรื่องดังนี้
1. พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ. 2487
"การเรี่ยไร" หมายความรวมตลอดถึงการซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการ ซึ่งมีการแสดงโดยตรงหรือโดยปริยาย ว่ามิใช่เป็นการ ซื้อขาย แลกเปลี่ยน ชดใช้ หรือบริการธรรมดา แต่เพื่อรวบรวมทรัพย์สิน ที่ได้มาทั้งหมดหรือบางส่วนไปใช้ในกิจการอย่างใดอย่างหนึ่งนั้นด้วย
มาตรา 5 ห้ามมิให้จัดให้มีการเรี่ยไร หรือทําการเรี่ยไร ดังต่อไปนี้
(1) การเรี่ยไรเพื่อรวบรวมทรัพย์สินมาให้หรือชดใช้แก่จําเลยเพื่อใช้เป็นค่าปรับ เว้นแต่จะเป็นการเรี่ยไรในระหว่าง วงศ์ญาติของจําเลย
(2) การเรี่ยไรโดยกําหนดเก็บเงินหรือทรัพย์สินอย่างอื่นเป็นอัตราโดยคํานวณตามเกณฑ์ปริมาณสินค้า ผลประโยชน์หรือวัตถุอย่างอื่น
(3) การเรี่ยไรอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมทรามแก่ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
มาตรา 8 การเรี่ยไรในถนนหลวงหรือในที่สาธารณะ การเรี่ยไร โดยโฆษณาด้วยสิ่งพิมพ์ ด้วยวิทยุกระจายเสียงหรือด้วยเครื่องเปล่งเสียงจะจัดให้มีหรือทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ข้อความในวรรคก่อนนี้มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การเรี่ยไรซึ่งได้รับอนุญาตหรือได้รับยกเว้นตามมาตรา 6
(2) การเรี่ยไรเพื่อกุศลสงเคราะห์ใน โอกาสที่บุคคลชุมนุมกันประกอบศาสนกิจ
(3) การเรี่ยไร โดยขายสิ่งของในงานออกร้าน หรือในที่นัดประชุมเฉพาะแห่งอันได้จัดให้ขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 17 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 5 มาตรา 6 วรรคแรกมาตรา 8 วรรคแรก มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
2.พรบ. ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559
มาตรา 13 ห้ามบุคคลใดทำการขอทานการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ให้ถือว่าเป็นการขอทาน
(1) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วยวาจาหรือการแสดงกิริยาอาการใด
(2) การกระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้
มาตรา 19 ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน
หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3.ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 341 ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 343 ถ้าการกระทำความผิดตามมาตรา 341 ได้กระทำด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชน หรือด้วยการปกปิดความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งแก่ประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560
มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(1) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา
จากบทกฎหมายดังกล่าว ผมความเห็นว่า การโพสต์ข้อความลงในสื่อสังคมออนไลน์(เพจเฟสบุ๊ค)ที่เปิดเป็นสาธารณะนั้น มีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปที่อาจเข้าถึงได้ให้ร่วมบริจาคเงินเพื่อสนับสนุนการทำงานของทนาย น่าจะเป็นการเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พรบ.ควบคุมการเรี่ยไร พ.ศ.2487 มาตรา 5(2),(3) มาตรา 8 ,มาตรา 17 มีโทษปรับไม่เกิน 200 บาท หรือ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
และอาจจะมีความผิดตาม พรบ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2559 มาตรา 13 (1),(2) เนื่องจากเป็นการขอรับบริจาคเงินมาเลี้ยงชีพ(ทนายความลัทธิเชื่อมจิต) ตามมาตรา 19 มีโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากนี้ การขอรับการสนับสนุนเงินบริจาคนั้น หากมีการหลอกลวงหรือมีเจตนาในการฉ้อโกง หรือฉ้อโกงประชาชน ก็จะมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 หรือมาตรา 343 แล้วแต่กรณี รวมไปถึงมีความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 14 (1) มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท สุดท้าย ก็อาจจะถูกตรวจสอบทรัพย์สิน เนื่องจากความผิดข้อหาฉ้อโกงประชาชนนั้น เป็นความผิดมูลฐาน ตามพรบ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อีกด้วย
และการเรี่ยไรดังกล่าวถือว่ามีรายได้จากการบริจาค ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วยครับ
ฝากเตือนแม่สามเณรและบุคคลที่คิดจะขอรับบริจาค ท่านกำลังทำผิดกฎหมายครับ
ทนายอนันต์ชัย ไชยเดช
(ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม)