ตู้เย็นระเบิดได้ อ.เจษ ยืนยัน แนะ 10 ข้อ ป้องกันเลี่ยงเหตุร้าย

รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ยืนยัน ตู้เย็นระเบิดได้ จากข่าวตู้เย็นระเบิดที่ร้อยเอ็ดทำบ้านพังหลายหลัง แนะ 10 ข้อทำเพื่อเลี่ยงเหตุไม่คาดฝัน

จากกรณีข่าวเกิดเหตุระเบิดในบ้านหลังหนึ่งที่จังหวัดร้อยเอ็ด สร้างความเสียหายทำให้บ้านพังหลายหลังซึ่งคาดว่าเกิดจาก "ตู้เย็นระเบิด" เกี่ยวกับเรื่องนี้ทำให้หลายคนตั้งคำถามว่าตู้เย็นระเบิดได้จริงหรือ เรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ได้โพสต์ยืนยันแล้วว่า ตู้เย็นระเบิดได้จริง

 

ตู้เย็นระเบิดได้ อ.เจษ ยืนยัน แนะ 10 ข้อ ป้องกันเลี่ยงเหตุร้าย

ตู้เย็นระเบิดได้ อ.เจษ ยืนยัน แนะ 10 ข้อ ป้องกันเลี่ยงเหตุร้าย

 

(อัพเดต: กรณีบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดนี้ มีรายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า คอมเพรสเซอร์ของตู้เย็นที่เกิดไฟไหม้นั้น ไม่ได้ระเบิดครับ คงต้องรอการตรวจสอบมากขึ้น ว่ามีอะไรอย่างอื่นอีกด้วยหรือเปล่า)

"ตู้เย็น ก็ระเบิดได้ ต้องระมัดระวังครับ"

เมื่อเช้านักข่าวส่งคำถามเข้ามา เกี่ยวกับเรื่อง "ตู้เย็น" ว่ามันระเบิดได้หรือเปล่า ? เพราะพึ่งเหตุตู้เย็นระเบิด เกิดขึ้นเมื่อคืน อย่างรุนแรงจนบ้านแทบพัง ... ซึ่งคำตอบก็คือ "ได้ครับ" และเคยเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วด้วย ต้องระมัดระวังกันหน่อยนะครับ

ตามรายงานข่าวที่ได้ บอกว่า เหตุตู้เย็นระเบิด เกิดขึ้นภายในบ้านพัก จังหวัดร้อยเอ็ด  เจ้าของบ้านนอกพักผ่อนอยู่ในห้อง จู่ๆ ได้ยินเสียงดัง คล้ายระเบิด ตูมขึ้น 1 ครั้งอย่างแรง ออกมาดู พบเปลวเพลิงลุกไหม้ที่ตู้เย็น ก่อนที่จะวิ่งหลบหนีเพราะชิ้นส่วนของบ้านพังลงมา ผนังบ้านและหลังคาพังเสียหายทั้งหลัง กระจกแตก ส่วนซากตู้เย็น มีรอยไหม้พังเสียหายยับเยิน 

ซึ่งถ้าถามว่า "ตู้เย็นมีโอกาสระเบิดได้หรือไม่ ? " คำตอบก็คือ ได้ แต่สำหรับกรณีบ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดหลังนี้ ก็ต้องรอผลการพิสูจน์หลักฐานกันต่อไปนะครับ ว่ามีสาเหตุแน่ชัดจากอะไรบ้าง

ในอดีตที่ผ่านมา เคยมีข่าว "ตู้เย็นระเบิด" เกิดขึ้นแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ และเคยเกิดขึ้นรุนแรงระดับที่ทำให้บ้านเรือนทรัพย์สินเสียหายได้ ซึ่งสาเหตุที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปได้จากหลายปัจจัย ได้แก่

1. ไฟฟ้าลัดวงจร : ส่วนมาก จะเกิดการลุกไหม้จากปลั๊กและสายไฟ ทำให้เปลวเพลิงลามมาถึงตัวของตู้เย็น เมื่อตู้เย็นลุกไหม้ ก็เกิดการระเบิดขึ้น

2. คอมเพรสเซอร์ระเบิด : เป็นกรณีที่พบได้เช่นกัน และจะเห็นร่องรอยการระเบิดที่ด้านหลังของตู้เย็น 

การที่คอมเพรสเซอร์ระเบิด เกิดจากเครื่องคอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป หรือได้รับความร้อน (จากเพลิงไหม้) ถ้าแค่ตัวของคอมเพรสเซอร์เท่านั้นที่ระเบิด ส่วนมากก็จะไม่เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น เพราะน้ำมันคอมเพรสเซอร์นั้น ไม่มีสถานะในการนำพาไฟ จึงไม่ทำให้ไฟติด (นอกเสียจากว่า จะเจอกับสารที่ทำให้ไฟติด อย่าง ออกซิเจนบริสุทธิ์ ที่พบได้บ่อยจากการตกค้างในการนำมาใช้ทดสอบรอยรั่ว ของท่อน้ำยาคอมเพรสเซอร์ในตู้เย็น เมื่อเกิดการสันดาปขึ้น จึงทำให้ระเบิดลุกไหม้ได้)

3. เกิดจากแรงดันของก๊าซ หรือแอลกอฮอล์ : การที่นำเครื่องดื่มที่มีก๊าซอยู่ เช่น น้ำอัดลม เบียร์ หรือแม้แต่น้ำหอม ไปแช่แข็งในช่องฟรีซ ก็อาจทำให้ระเบิดได้ เนื่องจากแรงดันของก๊าซในเครื่องดื่มนั้นมีอยู่มาก ยิ่งมีหลายขวด ก็จะยิ่งเพิ่มความแรงขึ้น

ดังนั้น 10 ข้อควรระวังในการใช้ตู้เย็นเพื่อหลีกเลี่ยงอุบัติเหตุเช่นนี้ ได้แก่

1. อย่าใช้งานตู้เย็น ในแบบที่ทำให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักเกินไป :  เช่น การอัดแช่ของในตู้ จนแน่นเกินไป , การแช่ของน้อย ปล่อยให้ตู้โล่งเกินไป , การนำของร้อนไปแช่เย็น เป็นต้น 

2. ควรเดินสายดิน : การเดินสายดิน ช่วยป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรได้ และช่วยลดความเสี่ยงต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้ 

3. ตั้งตู้เย็นให้เหนือระดับน้ำ : สำหรับบ้านที่อยู่ใกล้น้ำหรือมีน้ำท่วมถึงแนะนำให้ยกระดับตู้เย็นขึ้น โดยใช้ขารองตู้เย็น เพื่อช่วยยกระดับขึ้นให้เหนือน้ำ

4. ไม่กระตุกปลั๊กตู้เย็น : ในการดึงปลั๊กตู้เย็น ควรจับที่ตัวจับปลั๊ก ไม่ควรกระตุกจากสายไฟ เพราะอาจทำให้สายไฟขาดใน และอาจทำให้เกิดไฟรั่วได้

5. ไม่เปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตัวเอง : หากไม่มีพื้นฐานในการซ่อมตู้เย็น ไม่ควรเปลี่ยนอะไหล่หรือซ่อมตู้เย็นด้วยตนเอง เพราะอาจทำให้สายไฟรั่วขาดระหว่างซ่อมได้ หรือทำให้เกิดการรั่วของสารทำความเย็น เป็นต้น

6. ไม่ใช้น้ำล้างตู้เย็น : การล้างตู้เย็น ควรใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดบิดให้แห้ง เช็ดตู้เย็น หรือเช็ดกำจัดกลิ่นด้วยน้ำส้มสายชูผสมน้ำ ไม่ควรใช้น้ำล้างตู้เย็นหรือน้ำร้อนมาราดในตู้เย็น เพราะอาจทำให้เกิดรอยรั่วได้ และที่สำคัญคือ ไม่ควรใช้น้ำยาที่มีสารเคมี มาเช็ดทำความสะอาดตู้เย็น

7. ปิดตู้เย็นให้สนิททุกครั้ง : หากปิดตู้เย็นไม่สนิท จะทำให้ความร้อนเข้าไปด้านใน ส่งผลให้คอมเพรสเซอร์ทำงานหนักขึ้น ทำให้น้ำแข็งละลาย ทำให้ของในตู้เย็นไม่เย็น และทำให้กินไฟ

8. ควรเสียบปลั๊กกับเต้ารับโดยตรง : ไม่ควรเสียบปลั๊กตู้เย็นกับปลั๊กสามตาหรือใช้ร่วมกับปลั๊กอื่น ควรเสียบเข้ากับเต้ารับหลัก โดยตรง

9. ไม่ควรเก็บของที่มีสารเคมี หรือวัตถุไวไฟ ไว้ในตู้เย็น : ตัวอย่างเช่น สีหรือยาบางชนิด สารไวไฟ น้ำหอมที่ไม่มีฝาปิดสนิท เป็นต้น เพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดได้ 

10. หมั่นเช็คความผิดปกติของตู้เย็น : ถ้ามีอาการแปลกไป เช่น มีเสียงดังมากกว่าที่เคย มีความร้อนมากบริเวณข้างตู้เยอะเกินไป หรือมีกลิ่นอะไรแปลก ๆ อาจจะเป็นสัญญาณถึงความไม่ปกติ ไม่ควรนิ่งนอนใจ อาจลองตามช่างมาช่วยดูอาการให้ดีกว่า

แถมด้วยว่า ในการเลือกซื้อตู้เย็น ก็ควรเลือกดูยี่ห้อที่มีความน่าเชื่อถือ และดูเรื่องการรับประกันและบริการหลังการขาย ประกอบด้วยครับ

 

ตู้เย็นระเบิดได้ อ.เจษ ยืนยัน แนะ 10 ข้อ ป้องกันเลี่ยงเหตุร้าย

 

ขอบคุณ Jessada Denduangboripant