เปิด 3 สัญญาณ "โรคหลงตัวเอง" หมอหมู ตอบชัด ควรรับมืออย่างไร

หมอหมู นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความ "โรคหลงตัวเอง" คนหลงตัวเองแบ่งออกเป็น 3 ประเภท และมี 3 สัญญาณอาการหลักดังนี้

หมอหมู นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า 

อดทนกับคนหลงตัวเองสักนิด เดี๋ยวอายุมากขึ้น เขาจะดีขึ้นเอง

คนหลงตัวเองได้กลายมาเป็นคำดูถูกที่มักใช้กันอยู่ทั่วไป ซึ่งเราเองก็อาจแสดงลักษณะนิสัยหลงตัวเองบ้างเป็นบางครั้ง

โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) เป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพที่ส่งผลต่อพฤติกรรมผิดปกติในระยะยาว ผู้ป่วยมักแสดงออกว่าเป็นคนที่เชื่อมั่นในตัวเองสูง ไม่ยอมรับผู้อื่น ก่อให้เกิดพฤติกรรมต่อต้านสังคม เช่น ชอบโอ้อวด เรียกร้องความสนใจ ดูถูกดูแคลนผู้อื่น ไม่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และบังคับผู้อื่นให้ทำตามสิ่งที่ตนต้องการ โดยสาเหตุคาดว่ามาจากปัจจัยทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวตนตั้งแต่เด็ก

งานวิจัยชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในวารสาร Psychological Bulletin โดยศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยในอดีตทั้งหมด 51 ชิ้น ซึ่งทำการวิจัยในคน 37,247 คน อายุตั้งแต่ 8-77 ปี ซึ่งนักวิจัยได้ศึกษาลักษณะคนคนหลงตัวเอง 3 ประเภท โดยแบ่งตามลักษณะของพฤติกรรม ดังนี้

1. คนหลงตัวเองแบบมีอำนาจเหนือคนอื่น (Agentic narcissists) - กลุ่มนี้จะรู้สึกว่าตัวเองยิ่งใหญ่หรือเหนือกว่าคนอื่น และปรารถนาความชื่นชมจากคนอื่น

2. คนหลงตัวเองแบบเป็นปฏิปักษ์ (Antagonistic narcissists) - กลุ่มนี้จะเห็นคนอื่นเป็นศัตรูคู่แข่ง และเป็นพวกหาประโยชน์ ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ

3. คนหลงตัวเองที่เกิดจากระบบประสาท (Neurotic narcissists) - กลุ่มที่มีแนวโน้มที่จะรู้สึกอับอาย รู้สึกไม่มั่นคง และอ่อนไหวง่ายต่อการถูกวิจารณ์

กลุ่มนักวิจัยศึกษาว่าเกิดอะไรขึ้นกับบุคลิกภาพเหล่านี้เมื่อเวลาผ่านไป โดยพบว่าเมื่อเวลาผ่านไป อาการของบุคลิกภาพแบบหลงตัวเอง จะดีขึ้น ซึ่งนักวิจัยอธิบายว่า สาเหตุที่คนหลงตัวเองมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น อาจเป็นเพราะว่าพวกเขาเริ่มตระหนักถึงผลลัพธ์เชิงลบของพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่น

สัญญาณบางอย่างที่อาจบอกได้ว่าเรากำลังอยู่กับคนหลงตัวเอง

1. มีดรามาอย่างต่อเนื่อง (Constant drama) - คนหลงตัวเองต้องการรู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ต้องการและมักแสวงหาแต่ความวุ่นวายและความขัดแย้ง

2. ไม่มีคำขอโทษที่จริงใจ (No genuine apologies) - พวกเขาไม่เคยต้องรับผิดชอบอย่างเต็มที่ต่อพฤติกรรมของตัวเอง

3. เอาแต่โทษคนอื่น (Blame game) – พวกเขาจะใช้อำนาจควบคุมและหาประโยชน์จากคนอื่นเพื่อประโยชน์ที่จะได้แก่ตัวเองเท่านั้น

สรุป ถ้าเราต้องอยู่กับคนหลงตัวเอง อดทนกับเขาสักนิด รอเวลาสักหน่อย เดี๋ยวอายุมากขึ้นเขาจะดีขึ้นเอง นะครับ

อ้างอิงข้อมูลจาก: Ulrich Orth, Samantha Krauss, Mitja D. Back. Development of narcissism across the life span: A meta-analytic review of longitudinal studies.. Psychological Bulletin, 2024; 150 (6): 643 DOI: 10.1037/bul0000436

เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์

ปล. ข้อมูลทั้งหมดที่ผมนำเสนอมีการอ้างอิงแหล่งที่มาชัดเจน และผมได้พยายามอ้างอิงจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ แต่บางครั้งอาจมีการโต้แย้งในข้อมูล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในแวดวงวิชาการ ดังนั้นจึงขอเรียนทุกท่านว่า โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านบทความของผม และควรหาข้อมูลเพื่มเติมเพื่อความถูกต้องอีกครั้ง ด้วยนะครับ

เปิด 3 สัญญาณ "โรคหลงตัวเอง" หมอหมู ตอบชัด ควรรับมืออย่างไร