- 22 ก.ค. 2567
หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ เปิดเคสคนไข้วัย 84 ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ สุดท้ายเสียชีวิต จากอาการแทรกซ้อนดังนี้
หมอมนูญ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าหน่วยโรคระบบทางเดินหายใจ หัวหน้าห้อง ICU โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ข้อความ ระบุ ผู้ป่วยหญิงอายุ 84 ปี ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ ทำให้เป็นโรคพังผืดสะสมในปอด 2 ปี เหนื่อยตลอดเวลา ต้องใช้ออกซิเจน 3 ลิตร/นาทีทั้งวันทั้งคืน มีไอแห้งๆ ไม่ปวดข้อ ข้อไม่บวม ไม่มีผื่น ไม่สูบบุหรี่ รักษาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา กินยาเสตียรอยด์ และยากดภูมิคุ้มกัน mycophenolate ยังไม่ได้กินยาลดพังผืด ขอย้ายกลับมารักษาต่อในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2567
ตรวจร่างกาย รูปร่างผอม ฟังปอดเสียงผิดปกติ ข้อไม่บวม ไม่เจ็บ
เจาะเลือดค่าอักเสบของเลือด ESR สูง 130 (ค่าปกติ1-20), hs-CRP สูง 327 (ค่าปกติ 0-5), Rheumatoid factor บวก, Anti-CCP บวก
เอกซเรย์ปอดมีฝ้าผิดปกติเข้ากับพังผืดสะสมในปอดทั้ง 2 ข้าง(ดูรูป) ทำคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ Echocardiogram หัวใจทำงานปกติ มีภาวะความดันหลอดเลือดแดงปอดสูงปานกลาง 60 มม.ปรอท
วินิจฉัย: ปอดเป็นพังผืดสะสมจากโรครูมาตอยด์ Rheumatoid Arthritis-Interstitial Lung Disease (RA-ILD) with pulmonary fibrosis
ได้เริ่มยา Nintedanib เพื่อลดพังผืดในปอด ร่วมกับยาเสตียรอยด์และยากดภูมิคุ้มกัน mycophenolate และให้ยาลดภาวะความดันหลอดเลือดแดงในปอด คนไข้ดีขึ้นบ้าง เหนื่อยน้อยลง ยังต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา เอกซเรย์ปอดดีขึ้นเล็กน้อย (ดูรูป) มาเข้ารพ.ครั้งสุดท้าย มีไข้ ไอ เหนื่อยมากขึ้นจากปอดติดเชื้อแทรกซ้อนเนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ (ดูรูป) ในที่สุดผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยญาติขอไม่ใส่เครื่องช่วยหายใจ
โรครูมาตอยด์ ทำให้เกิดโรคพังผืดสะสมในปอดพบได้แต่ไม่บ่อย แต่บางคนการดำเนินของโรคแย่ลงเร็วมากอย่างผู้ป่วยรายนี้ ถึงจะให้การรักษาเต็มที่ ก็ยังเสียชีวิต