- 02 ส.ค. 2567
เปิดพิกัด 12 ซุปเปอร์มาเก็ตจีน จำหน่ายสินค้าอันตราย ผิดกฎหมาย ตำรวจสอบสวนกลาง ผนึก อย. บุกทลาย ยึดของกลาง พร้อมแจ้งข้อหาเจ้าของร้านค้า
กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผนึก อย. และ สำนักงานเขต กทม. ปูพรม12 ร้านซุปเปอร์มาเก็ตจีน ทั่วกรุงเทพฯ ปฏิบัติการตรวจค้นร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป12จุด ตรวจยึดของกลาง 73รายการ จำนวนกว่า1,878ชิ้น
พฤติการณ์ซุปเปอร์มาเก็ตจีนในไทย สืบเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับการร้องเรียนจากประชาชน และได้รับการประสานจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ให้ทำการตรวจสอบร้านขายของทั่วไปที่มีการจำหน่ายสินค้าทั่วไป โดยเฉพาะอาหารที่ไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.)
หรือ อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย เมื่อซื้อไปบริโภคอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจสรรพคุณ วิธีการบริโภค และส่วนประกอบต่างๆ คลาดเคลื่อน อีกทั้งไม่สามารถทราบถึงแหล่งผลิต และมาตรฐานในการผลิตจนเกิดอันตรายในการบริโภคได้เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจลงพื้นที่ทำการตรวจสอบพบว่ายังมีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทยจริง
ต่อมาระหว่างวันที่31 กรกฎาคม 2567-1 สิงหาคม 2567เจ้าหน้าที่ตำรวจกก.4 บก.ปคบ.ได้ร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารแลย (อย.) และ เจ้าหน้าที่สำนักอนามัย และสำนักงานเขตกรุงเทพมหานครเข้าตรวจสอบร้านจำหน่ายสินค้าทั่วไป
เปิดพิกัด 12 ซุปเปอร์มาเก็ตจีน
จำหน่ายสินค้าอันตราย ไม่มีฉลากเป็นภาษาไทย ไม่มีเลขสารบบอาหาร (อย.)
1. ร้านค้าภายในซอยเจริญกรุง 16 แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานครตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 4 รายการรวม 117 ชิ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, ผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมบริโภค,เครื่องดื่มบรรจุกล่อง
2. ร้านค้าย่านถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 10 รายการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท เป็นต้น จำนวนรวม 213 ชิ้น
3. ร้านค้าย่านถนนเยาวราช แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร ตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย/ไม่มีเลขสารบบอาหาร จำนวน 6 รายการ ได้แก่ อาหารที่พร้อมบริโภคทันที เป็นต้น จำนวนรวม 391 ชิ้น
4.ร้านค้าย่านถนนนวลจันทร์ แขวงนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหารไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 6 รายการ ได้แก่ อาหารในภาชนะบรรจุทีาปิดสนิท ชา ผลิตภัณฑ์ปรุงรสที่ได้จากการย่อยโปรตีนของถั่วเหลือง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น ได้ยึดผลิตภัณฑ์รวมจำนวน 121 ชิ้น
5. ร้านค้าย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ต้องสงสัยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 3 รายการ ได้แก่ น้ำส้มสายชู และซอสในภาชนะบบรจุที่ปิดสนิท ได้ยึดผลิตภัณฑ์รวมจำนวน 13 ชิ้น
6. ร้านค้าย่านถนนประชาราษฎร์บำเพ็ญ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ต้องสงสัยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 5 รายการ ได้แก่ ชา เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที และซอสในภาชนะบบรจุที่ปิดสนิท ได้ยึดผลิตภัณฑ์รวมจำนวน 57 ชิ้น
7. ร้านค้าย่านถนนประชาราษฏร์บำเพ็ญ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวางกรุงเทพมหานคร ตรวจยึด อาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 8 รายการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที , ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์, อาหารกึ่งสำเร็จรูป, เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท, กาแฟ, น้ำส้มสายชู และ ขนมเยลลี่ จำนวนรวม 119 ชิ้น
8. ร้านค้าย่าน ถนนประชาอุทิศ แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ต้องสงสัยแสดงฉลากไม่ถูกต้อง จำนวน 3 รายการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที อาหารในภาชนะบบรจุที่ปืดสนิท จำนวนรวม 72 ชิ้น
9. ร้านค้าย่านถนนเทียนร่วมมิตร แขวงห้วยขวาง เขตห้วงขวาง กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารที่ไม่แสดงฉลากภาษาไทย จำนวน 2 รายการ ได้แก่ผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมบริโภคทันที(ปลาหมึกยัดไส้รสเผ็ด และรสดั่งเดิม) จำนวนรวม 11ชิ้น
10. ร้านค้าย่านถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวางกรุงเทพมหานคร ตรวจยึดอาหารไม่แสดงฉลากภาษาไทย/ไม่มีเลขสารบบอาหาร จำนวน 6 รายการ ได้แก่ อาหารสำเร็จรูปพร้อมบริโภคทันที บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น จำนวนรวม 334 ชิ้น
11. ร้านค้าภายในตึก BELLE GRAND RAMAถนนพระราม 9 แขวงห้วยขวางตรวจยึด ผลิตภัณฑ์อาหารไม่แสดงฉลากภาษาไทย/ไม่มีเลขสารบบอาหาร จำนวน 5 รายการ ได้แก่ เครื่องดื่ม วุ้นสำเร็จรูปแะขนมเยลลี่ และอาหารกึ่งสำเร็จรูป เป็นต้นจำนวนรวม 217 ชิ้น
12. ร้านค้าในพื้นที่แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ตรวจยึดผลิตภัณฑ์อาหารไม่แสดงฉลากภาษาไทยได้แก่ น้ำพริกหมาล่า และผลิตภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานอื่นๆ จำนวน 15 รายการ รวมทั้งสิ้น 213 ชิ้น
รวมตรวจยึดของกลาง จำนวน73 รายการ จำนวนกว่า 1,878 ชิ้นส่งพนักงานสอบสวน กก.4 บก.ปคบ. ดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนจะได้ดำเนินการออกหมายเรียกเจ้าของร้านค้าทั้ง 12 รายมาเพื่อรับทราบข้อกล่าวหาต่อไป
เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522มาตรา 6(10) ฐาน “จำหน่ายอาหารแสดงฉลากไม่ถูกต้อง” ระวางโทษปรับไม่เกิน30,000 บาท
เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่าปฏิบัติการในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอขอบคุณตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ที่ร่วมปฏิบัติการตรวจค้นทั้ง 12 แห่ง และยึดผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายได้เป็นจำนวนมาก
อย. จะตรวจสอบร้านจำหน่ายอาหารโดยเข้มงวดและดำเนินคดีตามที่กฎหมายกำหนด ขอให้ผู้ประกอบการตรวจสอบสินค้าก่อนนำมาจำหน่าย เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค และได้แจ้งไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทุกจังหวัด ให้ตรวจสอบเฝ้าระวังในทุกพื้นที่ อนึ่ง การรับประทานอาหารแปรรูปที่ไม่ขอเลขสารบบอาหารอาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพ เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่แน่ชัด ไม่มีการรับรองว่าสถานที่ผลิตนั้นถูกสุขลักษณะหรือไม่ ใส่สารใดลงไปในอาหารบ้าง หากผู้บริโภคพบการกระทำผิดแจ้งร้องเรียนได้ที่
สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ E-mail: [email protected]ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ
ด้าน พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผบก.ปคบ. เผยว่า ผลิตภัณฑ์อาหารจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อนจำหน่าย หากพบไม่มีเลขสารบบอาหารอย่าซื้อมารับประทานโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนได้เนื่องจากไม่ทราบแหล่งผลิตที่ใดและแหล่งผลิตนั้นมีมาตรฐานตามที่กำหนดไว้หรือไม่
และขอฝากความห่วงใยมายังพี่น้องประชาชนว่าอย่าซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่แสดงฉลากไม่ถูกต้อง ไม่ทราบที่มาของแหล่งผลิต ไม่ว่าจะเป็นการซื้อจากร้านค้าทั่วไป หรือแหล่งขายทางออนไลน์ เพราะอาจเกิดอันตรายจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่ปลอดภัยต่อการบริโภค และขอเตือนไปยังผู้ที่ลักลอบผลิตหรือจำหน่ายอาหารที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือไม่ได้คุณภาพมาตรฐาน
ไม่ว่าจะเป็นโรงงานผลิตหรือตัวแทนจำหน่าย ให้หยุดพฤติการณ์ดังกล่าวทันที หากตรวจพบจะดำเนินคดีโดยเด็ดขาด และหากพี่น้องประชาชนพบผลิตภัณฑ์ที่ต้องสงสัย สามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน บก.ปคบ. 1135 หรือ เพจ ปคบ. เตือนภัยผู้บริโภคได้ตลอดเวลา