ตอบชัดแล้ว "แอปทางรัฐ" มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน

DGA ชี้ แอปฯ ทางรัฐ มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลสูง ย้ำต้อง ติดตั้งแอปฯ ผ่าน App Store และ Play Store เท่านั้น

เพจเฟซบุ๊ก พรรคเพื่อไทย ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า DGA ชี้ แอปฯ ทางรัฐ มีความปลอดภัยของข้อมูลส่วนบุคคลสูงด้วยมาตรฐานระดับโลก ย้ำให้คนไทยเชื่อมั่น ติดตั้งแอปฯ ผ่าน App Store และ Play Store เท่านั้น

ใช้งานแอปฯ ทางรัฐ ต้องถ่ายภาพใบหน้า-บัตรประชาชน เพื่อยืนยันตัวตน ป้องกันการสวมสิทธิ์

‘ทางรัฐ’ เป็นแอปพลิเคชันของภาครัฐที่พัฒนาขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางบริการภาครัฐสำหรับประชาชนที่มีการเชื่อมข้อมูลและบริการจากส่วนราชการต่างๆ มาไว้ในที่เดียวกัน ทั้งเป็นช่องทางในการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ที่ผ่านมา

การเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าผู้ที่กำลังจะเข้าใช้งานแอปฯ ทางรัฐ เป็นประชาชนตัวจริงหรือไม่ โดยการให้ประชาชนผู้นั้นถ่ายภาพใบหน้า และภาพบัตรประจำตัวประชาชนของตัวเอง เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับภาพใบหน้าและข้อมูลบัตรประชาชนที่มีอยู่ในระบบของภาครัฐว่าตรงกันหรือไม่ ซึ่งเรียกว่า การทำ KYC หรือ Know Your Customer เป็นการป้องกันไม่ให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้นั้น หรือสวมสิทธิ์ ซึ่งเป็นมาตรการการป้องกันและรักษาความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือแบบเดียวกับที่ธนาคารในประเทศไทยใช้ (IAL 2.3) ตามประกาศของคณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐเป็นเพียงช่องทางเชื่อมโยงข้อมูลและบริการจากหน่วยงานต้นทาง โดยไม่ได้เก็บข้อมูลประชาชนจากหน่วยงานต้นทางมาไว้ที่แอปฯ แต่อย่างใด ดังนั้น ข้อมูลส่วนบุคคลที่แสดงในแอปฯ ทางรัฐ จะสามารถเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของข้อมูล และผู้มีอำนาจตามกฎหมายในการเข้าถึงข้อมูลเท่านั้น

[ยืนยันแอปฯ ทางรัฐไม่เชื่อมต่อและไม่เก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชน]

ปัจจุบัน แอปฯ ทางรัฐ ยังไม่มีการเชื่อมกับบัญชีธนาคาร และไม่มีการเก็บข้อมูลบัญชีธนาคารของประชาชนแต่อย่างใด

โดย แอปฯ ทางรัฐอนุญาตให้หน่วยงานของรัฐเชื่อมโยงข้อมูลและบริการเข้าสู่แอปฯ ทางรัฐเท่านั้น ภายใต้วิธีการเชื่อมต่อที่มีการควบคุมกำกับดูแล และมีความมั่นคงปลอดภัยสูง โดยไม่ได้เปิดให้บุคคลทั่วไป หรือภาคเอกชน หรือธนาคาร เชื่อมโยงข้อมูลบัญชีและระบบบริการ

ส่วนแอปฯ ของธนาคาร และผู้ให้บริการกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่เข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่าน Digital Wallet ต้องเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลกับแพลตฟอร์มการชําระเงินกลาง (Payment Platform) ของภาครัฐเพื่อรองรับการชำระเงินซึ่งเป็นคนละระบบกับแอปฯ ทางรัฐ

สำหรับแอปฯ ทางรัฐ มีมาตรการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบและข้อมูลต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ การพัฒนาระบบที่มีการเข้ารหัสข้อมูล และใช้เทคโนโลยีการยืนยันตัวตนที่ทันสมัย โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA ร่วมกับทีมงานผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์ในการพัฒนาระบบที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก โดยเน้นเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลและระบบเป็นหลัก

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ในระดับสูง (State-of-the-Art Cybersecurity Protection) ตลอดจนการบริหารจัดการและจัดเก็บข้อมูลส่วนบุคคลภายใต้แนวทางที่สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) กำหนด และเป็นไปตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2560 พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และพ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. 2562 รวมถึงตามมาตรฐานที่ DGA ได้รับการรับรอง เช่น ISO 27001 (Security Management) เป็นต้น

ทั้งนี้ ขอให้คนไทยให้ความเชื่อมั่น พร้อมเลือกติดตั้งแอปฯ ผ่าน App Store และ Play Store เท่านั้น

ตอบชัดแล้ว "แอปทางรัฐ" มีความปลอดภัยมากน้อยแค่ไหน