- 28 ส.ค. 2567
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 กรมทรัพยากรธรณีแจง "เครื่องวัดดินถล่ม" จ.ภูเก็ต พัง 2 เครื่อง เหตุขาดงบซ่อมบำรุงตั้งแต่ปี 63
วันที่ 28 สิงหาคม 2567 นายสมศักดิ์ วัฒนปฤดา ผู้อำนวยการกองธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวของดินบนเขานาคเกิด อ.กะรน จ.ภูเก็ต ไม่แจ้งเตือนว่า อุปกรณ์นี้ถูกติดตั้งใช้งานมาตั้งแต่ปี 2557 พร้อมกับอีกจุดหนึ่งใน ต.ป่าตอง อ.กะทู้ และไม่ได้รับงบประมาณซ่อมบำรุงมาตั้งแต่ปี 2563 ก่อนเกิดเหตุดินสไลด์ภูเก็ตจนมีผู้เสียชีวิต
สำหรับปัญหาครั้งนี้มาจากหลายปัจจัย ส่วนหนึ่งเพราะสภาพอากาศ เนื่องจากฝนในทะเล มีลักษณะต่างจากฝนบนบกทั่วไปที่ตกไม่ทั่วฟ้า ทำให้อาจไม่ครอบคลุมไปถึงสถานีที่ตั้งเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวของดิน ทำให้อุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีเก่าไม่สามารถตรวจจับปริมาณน้ำฝนได้
อีกปัจจัยคือตัวอุปกรณ์นี้ ที่ตรวจสอบภายหลังพบว่ามีปัญหาเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนตัวของดินเสียมาประมาณ 1 ปี และได้รับแสงจากแผงโซลาร์เซลล์ไม่เพียงพอ ทำให้แบตเตอรี่ไม่ทำงาน ไม่สามารถรับส่งข้อมูลได้ ส่วนหนึ่งเพราะวัดกิตติสังฆาราม หรือวัดกะตะ ขยายพื้นที่เพิ่มโดยรอบ ลดทอนศักยภาพของเครื่องมือ และหน่วยงานยังใช้แผนที่เดิมของวัดที่ไม่ระบุการก่อสร้างเพิ่มเติม
นายสมศักดิ์ กล่าวว่า กรมทรัพยากรธรณี น้อมรับผิดกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมยืนยันว่ากรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ วานนี้ปลัดกระทรวงสั่งให้เตรียมโครงการของบติดตั้งเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวของดินเป็นการด่วน โดยใช้งบประมาณที่เหลือจากงบปี 2567 เร่งทำเรื่องจัดซื้อทั้งหมด 4 เครื่อง ราคาประมาณ 2.3-2.5 ล้านบาท คาดว่าจะติดตั้งที่ จ.ภูเก็ต ได้ทันภายในปีนี้ ขณะนี้กำลังประเมินสถานที่ติดตั้งทั้งหมด 4 จุด
นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2568 ได้เตรียมทำเรื่องขอจัดซื้อเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวของดิน เพื่อติดตั้งในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคเหนือ ประเมินจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เข้าขั้นวิกฤตในช่วงนี้
นายสมศักดิ์ อธิบายการทำงานของเครื่องมือวัดการเคลื่อนตัวของดินว่าจะใช้เซ็นเซอร์วัดการเคลื่อนตัวมวลดิน ซึ่งฝังในพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ความลึก 3-6 เมตร ตรวจจับได้ในรัศมี 100-200 เมตร และมีเครื่องวัดความช่ำของน้ำ หากช่ำมาก มีโอกาสทำให้ดินเคลื่อนตัว จะส่งข้อมูลไปสถานีจัดเก็บและส่งข้อมูลผ่านซิมโทรศัพท์เข้ามาที่ศูนย์ปฏิบัติการพิบัติภัย เพื่อวิเคราะห์ความเสี่ยงล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน ก่อนแจ้งเตือนเป็นข้อความโทรศัพท์ไปยังเครือข่ายเฝ้าระวังพิบัติภัยที่มีทั้งหมด 45,000 คนใน 54 จังหวัดทั่วประเทศ
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เครือข่ายดังกล่าวใน จ.ภูเก็ต เหลือเพียง 10 คน จึงมีแผนจะพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ขึ้นมา พร้อมกับประสานกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) พัฒนาแอพพลิเคชั่นเตือนภัยขึ้นมา