- 04 ก.ย. 2567
เปิดคำพิพากษาคดีนายเดวิด ฝรั่งเตะหมอที่ภูเก็ต หลังศาลยกฟ้องคดีทำร้ายร่างกายหมอปายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2567
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2567 ศาลแขวงภูเก็ตยกฟ้องเดวิด ฝรั่งเตะหมอ โดยศาลแขวงภูเก็ตนัดพิพากษาคดี แพทย์หญิงธารดาว จันทร์ดำ หรือ หมอปาย เป็นโจทย์ ยื่นฟ้อง นายเดวิด ชาวสวิสเซอร์แลนด์ เจ้าของปางช้างภูเก็ต ในคดีทำร้ายร่างกาย กรณีเตะหลังหมอปาย ขณะนั่งเล่นบริเวณบันไดหน้าวิลลา ชายหาดยามู ต.ป่าคลอก อ.ถลาง จ.ภูเก็ต เมื่อวันที่ 24 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา โดย ศาลพิพากษายกฟ้อง ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลย
เปิดคำพิพากษาศาล ยกฟ้องฝรั่งเตะหมอ คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยสำนวนแรกพนักงานอัยการคดีศาลแขวงเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า จำเลยใช้กำลังทำร้ายร่างกายนางสาวธาวธารดาว จันทร์ดำ ผู้เสียหาย โดยการเตะบริเวณหลังหนึ่งครั้ง เป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บเป็น แผลฟกช้ำบริเวณหลังส่วนบน โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 391
สำนวนที่สอง นางสาวธารดาว เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นเหตุให้ นางสาวธารดาว มีอาการทางจิตประสาทโศกเศร้าเสียใจซึ่งเป็นอาการทางจิตเวช โดยแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD (โรคเครียดภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนขวัญ) ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 295
ศาลให้เรียกพนักงานอัยการคดีศาลแขวงว่า โจทก์ที่ 1 และเรียกนางสาวธารดาวว่า โจทก์ที่ 2 คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
เห็นว่า เมื่อพิจารณาคำเบิกความ และคำให้การชั้นสอบสวนของโจทก์ที่ 2 ประกอบกับคลิปวิดีโอตามวัตถุพยาน ปรากฏว่ามีความแตกต่างและไม่สอดคล้องกับเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุ เนื่องจากตามคลิปวิดีโอปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 หันหน้ามาทางข้างขวา และเหลียวหลังมองไปทิศทางที่จำเลยกำลังเดินตรงมาที่โจทก์ที่ 2 จึงเชื่อว่าหากจำเลยเตะโจทก์ที่ 2 จริง
โจทก์ที่ 2 และนางสาวศุกาญจน์ สุขเกื้อ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุด้วยกัน ย่อมน่าจะเห็นเหตุการณ์ และยืนยันได้หนักแน่นว่าจำเลยเตะทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 โดยมีลักษณะและรายละเอียดการเตะอย่างไรกันแน่ เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุมีแสงสว่างจากหลอดไฟในสวน จากดวงจันทร์เต็มดวงเพียงพอที่พยานโจทก์จะมองเห็นและจดจำเหตุการณ์ได้
แต่โจทก์ที่ 2 กลับไม่สามารถยืนยันข้อเท็จจริงถึงการถูกทำร้ายร่างกายนั้นได้ อันเป็นข้อพิรุธให้น่าสงสัย นอกจากนี้ ตามคลิปวิดีโอวัตถุพยานก็ไม่ปรากฎภาพเหตุการณ์ที่แสดงถึงจำเลยใช้เท้าเตะโจทก์ที่ 2 จนมีลักษณะคะมำไปด้านหน้าดังที่โจทก์ที่ 2 ให้การต่อพนักงานสอบสวน
แต่กลับปรากฏภาพโจทก์ที่ 2 สามารถลุกขึ้นยืนและเดินออกไปจากที่เกิดเหตุได้อย่างปกติ ขัดแย้งกับคำให้การของโจทก์ที่ 2 ทั้งไม่สมเหตุสมผล เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบรูปร่างของจำเลยที่เป็นคนสูงใหญ่กว่าโจทก์ที่ 2 มาก ประกอบกับโจทก์ที่ 2 กับจำเลยไม่เคยรู้จักกัน หรือมีเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน พฤติการณ์แห่งคดีไม่ปรากฏว่าโจทก์ที่ 2 และจำเลยมีปากเสียงทะเลาะวิวาทกันก่อน และปกติบุคคลทั่วไปเมื่อถูกทำร้ายร่างกายโดยไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกันย่อมต้องสอบถามมูลเหตุที่ทำร้ายตน
แต่ทางนำสืบของโจทก์กลับไม่ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในชั้นพิจารณา นอกจากนี้ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนยังเบิกความอีกว่า ตำแหน่งที่โจทก์ที่ 2 นั่งบนบันได้ขั้นที่ 2 นับจากด้านล่าง หากจำเลยยืนอยู่บันไดขั้นบนสุด จะไม่สามารถเตะถึงโจทก์ที่ 2 ได้ และหากจำเลยเดินลงมาอีก 1-2 ขั้นบันไดย่อมประชิดตัวโจทก์ที่ 2 ซึ่งโจทก์ที่ 2 และนางสาวศุภกาญจน์ต้องเห็นเหตุการณ์เป็นอย่างดี อีกทั้งพยานแวดล้อมกรณีของโจทก์ทั้งสองไม่มีพยานปากใดให้การยืนยันว่า จำเลยรับต่อพยานว่าได้เตะโจทก์ที่ 2 ทั้งหลังเกิดเหตุมีการไกล่เกลี่ยในที่เกิดเหตุจำเลยก็ปฏิเสธต่อ ตำรวจของสถานีตำรวจภูธรถลาง ว่า ไม่ได้ทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2 สำหรับรายละเอียดบาดแผล ของโจทก์ที่ 2
โจทก์ทั้งสองมีพยานปากแพทย์ออกผลการตรวจชันสูตรบาดแผลเบิกความว่า พยานไม่ได้ตรวจร่างกายโจทก์ที่ 2 เพียงแต่ดูลักษณะบาดแผลจากภาพถ่ายและข้อมูลที่พยาบาลบันทึกไว้เท่านั้น โดยโจทก์ที่ 1ไม่ได้นำพยาบาลซึ่งเป็นผู้ถ่ายรูปบาดแผลของโจทก์ที่ 2 มาเบิกความยืนยัน และมิได้ส่งภาพถ่ายบาดแผลและประวัติการรักษาทางเวชระเบียนซึ่งโจทก์ที่ 2 เข้าทำการรักษาก่อนออกผลการตรวจทางนิติเวช โดยภาพถ่ายบาดแผลจำเลยเป็นฝ่ายอ้างเป็นพยาน ดังนั้น ผลการตรวจชันสูตรบาดแผลจึงยังมีข้อพิรุธให้สงสัย
เมื่อจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองที่นำสืบมาจึงยังมีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย ส่วนที่โจทก์ที่ 2 อ้างว่า การกระทำของจำเลยเป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 รับอันตรายแก่จิตใจโดยป่วยเป็นโรค PTSD เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดหรือไม่ดังวินิจฉัยข้างต้น ข้อเท็จจริงว่าโจทก์ที่ 2 ได้รับอันตรายแก่จิตใจหรือไม่ จึงย่อมไม่ใช่ผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลย
นอกจากนี้ที่โจทย์ที่ 2 อ้างว่าป่วยเป็นโรค PTSD จำเลยนำสืบหักล้างและมีพยานปากผู้เชี่ยวชาญซึ่งศาลหมายเรียกมาให้ความเห็นเป็นหนังสือและมาเบิกความประกอบ มีความเห็นตรงกันว่า การวินิจฉัยว่าเป็นโรค PTSD บุคคลนั้นต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่อันตรายถึงแก่ชีวิต หรือได้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งเหตุการณ์ที่โจทก์ที่ 2 ได้รับมาตามที่กล่าวอ้างนั้น ไม่เข้าหลักเกณฑ์ดังกล่าว จึงพิพากษายกฟ้อง