- 09 ก.ย. 2567
"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความ เผย งานวิจัยชี้ ‘พริก’ อาจช่วยป้องกัน หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
"หมอหมู" รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก หมอหมู วีระศักดิ์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ ระบุว่า
งานวิจัยชี้ ‘พริก’ อาจช่วยป้องกัน หัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมอง
การวิจัยใหม่พบว่าการกินพริกช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้
งานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of the American College of Cardiology (JACC) ได้ศึกษาข้อมูลจากชายและหญิง จำนวน 22,811 คน อายุ 35 ปีขึ้นไป จากภูมิภาค Molise ประเทศอิตาลี เป็นเวลากว่า 8 ปี พบว่า
1. ผู้เข้าร่วมร้อยละ 23.4 ทานพริกมากกว่า 4 ครั้งต่อสัปดาห์ ในขณะที่ร้อยละ 33.7 ระบุว่าไม่เคยทานพริกเลยหรือรับประทานไม่บ่อยนัก
2. ในช่วง 8 ปี พบมีผู้เสียชีวิต 1,236 ราย ซึ่งมากกว่า 1 ใน 3 เสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
3. ผู้ที่กินพริก 4 ครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่า มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากอาการหัวใจวายน้อยลงร้อยละ 40 และมีความเสี่ยงเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมอง น้อยลงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้กินพริกเป็นประจำ
พริกช่วยป้องกันอาการหัวใจวายและโรคหลอดเลือดสมองได้อย่างไร?
แคปไซซิน ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ที่ทำให้พริกมีรสเผ็ด จะไปยับยั้งการทำงานของยีนที่ทำให้หลอดเลือดแดงหดตัว และลดระดับคอเลสเตอรอลด้วยการลดการสะสมของคอเลสเตอรอลในร่างกาย
- ในความเห็นส่วนตัว
1. งานวิจัยนี้จำกัดอยู่เพียงการศึกษาวิจัยโดยการสังเกตเท่านั้น ไม่ใช่การทดลองแบบสุ่มที่มีตัวแปร รวมถึงข้อมูลการทานอาหารก็ยังเป็นการรายงานด้วยตนเอง ซึ่งอาจไม่น่าเชื่อถือ
2. การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและออกกำลังกายเป็นสิ่งสำคัญ และไม่ควรทานพริกมากขึ้นเพื่อทดแทนอาหาร
3. แม้ว่าพริกจะดูเหมือนมีประโยชน์ต่อหัวใจ แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องเข้าใจว่าคุณไม่สามารถแค่ราดซอสพริก หรือเติมพริกลงในอาหาร แล้วบอกว่าสุขภาพหัวใจจะดีขึ้นได้ ซึ่งการทำให้พริกเป็นส่วนหนึ่งของอาหารเพื่อสุขภาพหัวใจจะช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นไปมากกว่า
อ้างอิงข้อมูลจาก: Bonaccio M, Di Castelnuovo A, Costanzo S, Ruggiero E, De Curtis A, Persichillo M, Tabolacci C, Facchiano F, Cerletti C, Donati MB, de Gaetano G, Iacoviello L; Moli-sani Study Investigators. Chili Pepper Consumption and Mortality in Italian Adults. J Am Coll Cardiol. 2019 Dec 24;74(25):3139-3149. doi: 10.1016/j.jacc.2019.09.068. PMID: 31856971.
เรียบเรียงโดย: รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี #หมอหมูวีระศักดิ์ #ตีแผ่ทุกความจริงด้วยวิทยาศาสตร์