หมอหมู เตือน ภัยเงียบ "เขียงพลาสติก" ที่หลายคนมองข้าม และไม่เคยรู้

หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความเตือน "เขียงพลาสติก" แหล่งไมโครพลาสติก ในอาหารของมนุษย์ที่ถูกมองข้าม?

"เขียงพลาสติก" ใครใช้อยู่ต้องระวัง ล่าสุด หมอหมู รศ.นพ.วีระศักดิ์ จรัสชัยศรี ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุเตือน แหล่งไมโครพลาสติก ที่ถูกมองข้าม เผยว่า

เขียง: แหล่งไมโครพลาสติก ในอาหารของมนุษย์ที่ถูกมองข้าม?

สิ่งของในชีวิตประจำวัน เช่น เขียง มักทำจากพลาสติกซึ่งอาจเป็นแหล่งที่มาของไมโครพลาสติก การวิจัยล่าสุดที่ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐนอร์ทดาโกตาได้เปิดเผยผลลัพธ์ที่น่ากังวลนี้

งานวิจัยดังกล่าวนี้ ได้ตรวจปริมาณไมโครพลาสติกที่ถูกปล่อยออกมาจากเขียงพลาสติก โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบ จาก 3 ปัจจัย

1. ประเภทของวัสดุที่ใช้ทำเขียง

2. วิธีการหั่นหรือสับ

3. ประเภทของอาหารที่ถูกหั่นหรือสับ

ผลวิจัยพบว่า

1. ประเภทของวัสดุที่ใช้ทำเขียง และ ประเภทของอาหารที่ถูกหั่นหรือสับที่มีความแข็งต่างกัน จะส่งผลกระทบต่อปริมาณไมโครพลาสติกที่ถูกปล่อยออกมาต่างกัน

2. ปริมาณไมโครพลาสติกที่ปล่อยออกมานั้นขึ้นอยู่กับ ประเภทของพอลิเมอร์ที่ใช้ในการผลิตเขียงโดยเขียงที่ผลิตจาก “โพลีโพรพิลีน” จะปล่อยไมโครพลาสติกออกมา มากกว่า เขียงที่ผลิตจาก “โพลีเอทิลีน” ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นการใช้เขียงพลาสติกที่ผลิตจาก “โพลีเอทิลีน” จึงปลอดภัยกว่า

แม้ว่าผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวของไมโครพลาสติกจะยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อระบบฮอร์โมน ความเสี่ยงต่อโรคอ้วน ความผิดปกติของวัยแรกรุ่น การเจริญพันธุ์ในเพศชาย และความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งที่เพิ่มมากขึ้น

วิธีแก้ปัญหา คือ หันกลับไปใช้เขียงไม้ ครับ แต่ก็ต้องระมัดระวังเรื่องเขียงไม้อาจกลายเป็นแหล่งปนเปื้อนจุลินทรีย์ได้หากไม่ได้รับการบำรุงรักษาอย่างถูกต้อง ดังนั้นท่านใดจะหันกลับมาใช้เคียงไม้ก็ควรทำความสะอาดเขียงไม้และฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธี ก็จะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ครับ

หมอหมู เตือน ภัยเงียบ "เขียงพลาสติก" ที่หลายคนมองข้าม และไม่เคยรู้